"MFC" ส่องตลาดหุ้นเกิดใหม่น่าสนใจมากขึ้น รับสัญญาณ Fund Flow ไหลเข้าหลัง Fed เริ่มปรับลดดอกเบี้ยครั้งแรก กดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่า  พร้อมรับอานิสงส์ "จีน" ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่หนุนอีก แนะจังหวะลงทุน "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต" (M-EM) ผ่านกองทุนหลัก Baillie Gifford เน้นลงทุนบริษัทชั้นนำมากด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุนคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า บลจ.เอ็มเอฟซี มองไตรมาส 4 นี้ ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Markets) มีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น ซึ่งได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนไหลเข้า (Fund Flow) สะท้อนได้จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุม FOMC วันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณของจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่     วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง นอกจากนี้ Fed ยังมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี 2567 และส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปี 2568 

ขณะที่คณะกรรมการ Politburo ของรัฐบาลจีน ได้เตรียมเสริมมาตรการทางการคลังเพิ่มเติม เช่น การอัดฉีดเงินช่วยเหลือให้กับประชาชนที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำและเด็กกำพร้า รวมถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ที่สำเร็จการศึกษาแต่ยังไม่มีงานทำ สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน เช่น ปรับลดอัตราสำรองเงินสด (RRR), ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 7 วัน (Reverse repo rate) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย, ปรับลดอัตราเงินดาวน์สำหรับบ้านหลังที่สอง และมาตรการส่งเสริมสภาพคล่องมูลค่ารวมราว 8 แสนล้านหยวน เพื่อนำไปใช้ซื้อหุ้นในตลาด รวมถึงซื้อหุ้นคืนด้วย

"บลจ.เอ็มเอฟซี มองการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังชุดใหญ่ของจีนในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาภาคอสังหาฯ และการบริโภค ที่เป็นปัจจัยถ่วงเศรษฐกิจจีนมานาน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ระดับ 5.0% ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นราว 15-20% จากจุดต่ำสุด โดยการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นแรงหนุนให้ตลาดหุ้น Emerging Markets ได้รับผลดีไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันตลาดหุ้นจีนมีน้ำหนักในดัชนี MSCI Emerging Markets เป็นอันดับ 1 สัดส่วน 24.42% (ข้อมูล ณ 30 ส.ค.67) และที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนยังปรับตัวขึ้นช้ากว่าประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ (Laggard)" นายธนโชติกล่าว

นอกจากตลาดหุ้นจีนแล้ว ยังมีอีกหลายตลาดใน Emerging Markets ที่มีเรื่องราวการเติบโตที่น่าสนใจ เช่น ตลาดหุ้นอินเดียที่มีการเติบโตเชิงโครงสร้าง (Structural Growth) และเป็นหนึ่งในประเทศที่ GDP โตเร็วที่สุดในโลกในระดับ 6-7% ต่อปี ขณะที่ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวของกับเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ที่เป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือน พ.ย.นี้ เพราะหากโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง อาจเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้นจากการขึ้นกำแพงภาษีใส่ประเทศจีน และประเทศอื่น ๆ

"บลจ.เอ็มเอฟซี มองเป็นจังหวะในการเข้าลงทุนตลาดหุ้น Emerging Markets เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในระยะยาวและสามารถนำไปจัดพอร์ตกระจายการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยง แนะนำ "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต"(M-EM) ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้น Emerging Market  อย่างไรก็ตามตลาดหุ้น Emerging Markets มักจะมีความผันผวนสูงกว่าตลาดหุ้น Developed Markets นักลงทุนควรคำนึงถึงสัดส่วนในการลงทุน ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ สำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว"นายธนโชติกล่าว

สำหรับกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต" (M-EM) มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Baillie Gifford Worldwide Emerging Markets Leading Companies Fund (กองทุนหลัก) บริหารจัดการโดย Baillie Gifford Investment Management (Europe) Limited เพียงกองทุนเดียวโดยเฉลี่ยในรอบปีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ซึ่งกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีรายได้หลัก หรือมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)  เน้นหุ้นที่มีโอกาสเติบโตของกำไรสูง และมีแนวทางการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้กองทุนอาจลงทุนใน Derivatives เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและ Efficient Portfolio Management โดยกองทุนมีระดับความเสี่ยงระดับ 6 สามารถลงทุนครั้งแรกขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท

#MFC #ข่าววันนี้ #ตลาดหุ้นเกิดใหม่ #ลดดอกเบี้ย #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์