"เพิ่มพูน-บิ๊กองค์การค้า สกสค." ชิ่งนัดศาลคดีเอกชนฟ้องหมิ่นฯเรียก 200 ล. โร่ขออัยการช่วยแก้ต่างคดี “โรงพิมพ์รุ่งศิลป์” ชี้เคยอ้าง ป.ป.ช.ว่าเป็นนิติบุคคล แต่คดีนี้กลับอ้างเป็นเจ้าพนักงานเพื่อขออัยการช่วย สวดเลือกใช้หลายสถานะเลี่ยงตรวจสอบ ดักคอให้ร้ายโรงพิมพ์ฯไม่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ฉะหากหวังดีจริงควรเริ่มตั้งแต่เขียนทีโออาร์ให้โปร่งใส
วันที่ 1 ต.ค.67 นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด (โรงพิมพ์รุ่งศิลป์) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 ที่ผ่านมา ศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และพวก รวม 5 ราย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเรียกร้องค่าเสียหาย จำนวน 200 ล้านบาท จากกรณีที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน และพวกให้ข่าวทางช่องทางสื่อออนไลน์ ทำให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ในฐานะคู่สัญญาจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งปรากฎว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน และพวก ไม่ได้เดินทางมาศาล แต่ทราบว่าก่อนหน้านั้น เลขาธิการ สกสค. ได้ทำหนังสือถึง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอให้แต่งตั้งพนักงานอัยการดำเนินการแก้ต่างคดีนี้ให้กับจำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องในองค์การค้าของ สกสค.
“ทราบว่าทางอัยการอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง และยังไม่ได้แต่งตั้งพนักงานอัยการมาดำเนินการแก้ต่างให้กลุ่มจำเลย ศาลจึงได้สั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ไปเป็นวันที่ 2 ธ.ค.67 แทน“ นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นายนัทธพลพงศ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ก่อนหน้านี้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ได้ร้องเรียนถึงความไม่ชอบมาพากล และได้รับความไม่เป็นธรรมในการเข้าร่วมประกวดราคาจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 ของ สกสค.กับหลายหน่วยงาน รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย ซึ่งในชั้นให้ข้อมูลกับทางสำนักงาน ป.ป.ช.นั้น ผู้บริหารองค์การค้าของ สกสค.กล่าวอ้างว่า ตัวเองเป็นนิติบุคคล ไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐแม้แต่บาทเดียว เช่นเดียวกับในการแถลงข่าวหลาย ๆ ครั้งของผู้บริหารองค์การค้าของ สกสค.ที่ผ่านมา จึงแปลกใจว่า ในคดีที่ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ฟ้องฐานหมิ่นประมาทฯ กลับไปขอความอนุเคราะห์จากสำนักงานอัยการ ซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน มาว่าความแก้ต่างให้ได้อย่างไร
“ในหนังสือที่เลขาธิการ สกสค.มีถึงทางอัยการ ระบุว่า การให้ร้าย โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ของจำเลยที่ 1-4 เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่ จึงขอตั้งอัยการแก้ต่าง แต่ตอนที่ไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. กลับบอกว่าตัวเองเป็นเอกชน หรือแม้แต่ตอนแถลงข่าวก็บอกว่าไม่ได้เป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้ใช้งบฯของรัฐแม้แต่บาทเดียว พอมาที่ศาลกลับบอกว่าเป็นเจ้าพนักงานรัฐอีก จึงดูเหมือนมีความพยายามใช้สถานะที่แตกต่างกันเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
นายนัทธพลพงศ์ กล่าวอีกว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ เห็นว่าการให้ข่าวที่ส่งผลให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ในฐานะคู่สัญญากับองค์การค้าของ สกสค.เสียหายนั้น ไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามกลุ่มจำเลยพยายามกล่าวอ้าง เพราะหากสำนักงาน สกสค.จะป้องกันความเสียหายแก่หน่วยงาน และเด็กนักเรียนทั่วประเทศจริง ควรเริ่มทำตั้งแต่การเขียนทีโออาร์โครงการจัดจ้างพิมพ์แบบเรียนที่โปร่งใสตรงไปตรงมา และจัดส่งปกหนังสือให้ โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ในฐานะคู่สัญญาอย่างถูกต้องครบถ้วน ทั้งที่ช่วงที่ดำเนินการจัดพิมพ์ เราก็ได้แจ้งองค์การค้าของ สกสค.โดยตลอดว่า ได้รับปกหนังสือไม่ครบ แต่แทนที่จะรีบส่งปกหนังสือให้ กลับออกมาให้ข่าวเหมือนจะต้องการให้สังคมเห็นว่า โรงพิมพ์รุ่งศิลป์ ไม่มีความสามารถ ไม่มีความพร้อมในการพิมพ์แบบเรียน
“ในทางปฏิบัติหากองค์การค้าของ สกสค.รู้ว่า โรงพิมพ์มีปัญหา ควรต้องมาช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้การจัดพิมพ์มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ซึ่งควรต้องมาร่วมมือกันถึงจะถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ แต่กลับมาให้ข่าวใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ข้อแก้ต่างนี้จึงฟังไม่ขึ้น” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า คดีที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องร้องฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเรียกร้องค่าเสียหาย จำนวน 200 ล้านบาทนั้น มีจำเลย 5 ราย ประกอบด้วย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ จำเลยที่ 1, นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จำเลยที่ 2, นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จำเลยที่ 3, นายธิติทัศน์ ธนัชนนท์เดชน์ ประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ (หนังสือเรียนปี 2567) จำเลยที่ 4 และบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง จำเลยที่ 5