คนไทยเชื้อสายเขมรท้องถิ่นไทย ในพื้นที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ต่างเริ่มทยอยออกมาซื้อข้าวของเครื่องใช้ และของเซ่นไหว้ เพื่อเตรียมนำไปเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ เนื่องในวันแซนโฎนตา ประจำปี 2567 หรือที่เรียกว่า ไงเบ็ญธม หรือ วันสารทใหญ่ของชาวไทยเชื้อเขมร ซึ่งไม่ต่างอะไรกับวันสารทไทย และสารทจีน แต่จะแตกต่างเพียงแค่วิถีความเชื่อเท่านั้น ขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้า บอกช่วงนี้ขายของดีเป็นพิเศษ ประชาชนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากกว่าปกติ คาดอานิสงค์จากเงินหมื่นจากโครงการดิจิทัล
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจตลาดสดเทศบาลตำบลหนองกี่ ต.ทุ่งกระเต็น อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ พบว่าได้เริ่มมีคนไทยเชื้อสายเขมรถิ่นไทย ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ ต่างออกมาจับจ่ายเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ เพื่อเตรียมนำไปสำหรับประกอบพิธี ‘แซนโฎนตา’ (อ่านว่า-แซน-โดน-ตา) ในวันเบ็ญธม (อ่านว่า-เบ็น-ทม) หรือวันสารทใหญ่ ของคนไทยเชื้อสายเขมรถิ่นไทย รวมถึงชาวกัมพูชา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 1 ต.ค.67 และวันสารทไทย ตรงกับวันที่ 2 ต.ค.67 ในประเพณีสารทเดือนสิบ แต่จะแตกต่างตรงที่รูปแบบ วิถีความเชื่อทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นถิ่น แต่มรวัตถุประสงค์เดียวกันคือ จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
โดยพบว่า บรรยากาศการจับจ่ายซื้อของเซ่นไหว้ ซึ่งจะประกอบไปด้วย อาหาร หวาน คาว หมู เห็ด เป็ด ไก่ ผลไม้ เหล้า ยา ปลาปิ้ง และน้ำหวาน น้ำเปล่า แต่สิ่งของที่ขาดไม่ได้สำหรับการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ในพิธีแซนโฎนตา คือ นุมเลี๊ยจ (เป็นภาษาเขมร) ที่ภาษาไทยเรียกว่า ขนมกระยาสารท ขนมนางเล็ด ขนมข้าวต้มมัด ขนมข้าวต้มด่าง ขนมเทียน ประชาชนเริ่มทยอยจับจ่ายเลือกซื้อ เพื่อเตรียมนำไปสำหรับประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษในพิธี ‘แซนโฎนตา’ที่จะมีขึ้นในช่วงวันที่ 1-2 ต.ค.67 นี้ ทำให้บรรยากาศเริ่มเป็นไปอย่างคึกคัก
ในขณะที่สินค้าข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงของที่จำเป็นสำหรับนำไปประกอบพิธีเซ่นไหว้ หลายร้านยังคงมีการจำหน่ายในราคาปกติ และยังไม่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด จึงทำให้ในปีนี้ประชาชนส่วนใหญ่ ต่างซื้อข้าวของกันมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากข้าวของที่ใช้ในการเซ่นไหว้แล้ว ก็ยังมีตลาดสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ ที่จำเป็นไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็คึกคักเช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจาก การที่ประชาชนได้รับเงินสด 10,000 บาท จากโครงการเงินดิจิทัล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้กล้าที่จะจับจ่ายสินค้ากันมากขึ้น
นาง ฐิติมา เตยโพธิ์ เจ้าของร้านคุณไก่ขนมไทย (เสื้อแดง-ขาว) แม่ค้าขายขนมกระยาสารท และของเซ่นไหว้ ที่ตลาดสดเทศบาลตำบลหนองกี่ บอกว่า ช่วงนี้ประชาชนเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้นจากช่วงปกติ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอานิสงค์จากโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงทำให้ประชาชนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่วนราคาสินค้าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ใช้สำหรับในการประกอบพิธีวันสารทไทย หรือสารทใหญ่ ทางร้านยังจำหน่ายในราคาปกติไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ด้าน น.ส.นัฐฐิมา สุขไสยา เจ้าของร้านเจ๊อีฟขนมหวาน (เสื้อดำ) แม่ค้าที่ขายกระยาสารท พวงมาลัย ดอกไม้ และของเซ่นไหว้ ที่ตลาดสดเทศบาลตำบลหนองกี่ บอกว่า ตอนนี้สินค้าทุกอย่างของทางร้านยังคงจำหน่ายในราคาเดิม ทั้งขนมหวาน และพวงมาลัย ดอกไม้ต่างๆ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้สำหรับการประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษ ในช่วงวันสารทใหญ่ หรือวันแซนโฎนตา ของชาวไทยเชื้อสายเขมรถิ่นไทย ซึ่งในช่วงเทศกาลดังกล่าวนี้ ทางร้านก็ยังคงจำหน่ายสินค้าในราคาเดิม และไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นแต่อย่างใด เพื่อไม่เป็นการเอาเปรียบลูกค้า ซึ่งก็มีลูกค้าทยอยเข้ามาจับจ่ายเลือกซื้อข้าวของกันอย่างต่อเนื่อง และมากกว่าเดิมจนเห็นได้ชัด ซึ่งคาดว่าจากที่ประชาชนได้รับเงินสด 10,000 บาท จากโครงการเงินดิจิทัล จึงทำให้ประชาชนกล้าจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับพิธีกรรมการแซนโฎนตา หมายถึง การทำบุญให้แก่บรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้ได้มารับกุศลผลบุญที่ลูกหลานอุทิศให้ ซึ่งตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 1 ต.ค.67 และตรงกับไงเบ็ญธม หรือวันสารทใหญ่ ซึ่งในช่วงวันดังกล่าวลูกหลานเขมรถิ่นไทย จะพากันกลับคืนบ้านเกิด เพื่อร่วมประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่าวันสารทเขมร คล้ายกับวันสารทจีน และสารทไทยนั่นเอง
ซึ่งพิธีแซนโฎนตา นอกจากจะเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นกุศโลบายที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ลูกหลานได้แสดงออกถึง ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ และมีโอกาสได้พบปะญาติมิตรเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเชื่อว่าวันแซนโฎนตานี้ ถ้าหากลูกหลานคนใด ไม่ได้จัดทำหรือไม่ไปร่วมแซนโฎนตา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว อาจไม่พอใจส่งผลให้การทำมาหากิน นั้นไม่ราบรื่น จิตใจเป็นกังวลไม่เป็นสุข ด้วยความเชื่ออย่างนี้ ทุกคนที่มีเชื้อสายเขมรถิ่นไทย จึงพยายามไปร่วมพิธี หรือไม่ก็จัดเครื่องเซ่นไหว้ที่บ้านของตนเอง.