จัดว่าเป็นพายุเฮอร์ริเคนที่มีฤทธิ์อย่างร้ายเหลือ
สำหรับ “เฮลีน” พายุลูกที่ 8 ที่ก่อตัวทวีความรุนแรงจนกลายเป็นพายุระดับเฮอร์ริเคนลูกที่ 5 ของปีนี้ จากมหาสมุทรแอตแลนติกในปีนี้ ที่พัดถล่มในหลายประเทศย่านทะเลแคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาเหนือ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่ที่นับว่าเสียหายหนักที่สุด ก็เห็นจะเป็น “สหรัฐอเมริกา” ในอเมริกาเหนือ ซึ่งปรากฏว่า รัฐต่างๆ ทางตะวันอกเฉียงใต้ ถูกพายุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” พัดกระหน่ำจนเสียหายอย่างหนัก
ด้วยขนาดความเร็วลมที่สูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนจัดว่าเป็นพายุเฮอร์ริเคนที่มีความแรงระดับ 4 พัดถล่ม
ทั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญจาก “องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ” หรือ “โนอา” ได้เคยพยากรณ์พายุ “เฮลีน” ลูกนี้ ในช่วงที่เพิ่งก่อตัวใหม่ๆ ในราวต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วยว่า ค่าเฉลี่ยความเร็วลม หรือความรุนแรงของพายุ น่าจะเกินกว่าที่ได้ประมาณการกันก่อนหน้า เพราะระดับอุณหภูมิในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นนั่นเอง อันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่ร้อนมากขึ้น จนมีผลต่อความรุนแรงของพายุ
โดยแรงลมระดังกล่าว ก็สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ เป็นบริเวณกว้าง อย่างชนิดที่เรียกว่า เมื่อพายุไปถึงที่ไหน ก็ราพณาสูร ณ ที่นั่น ก่อนที่พายุจะลดระดับความรุนแรงลงเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชัน ตามลำดับในเวลาต่อมา
ทว่า อิทธิพลของพายุ ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่อง อันก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมสูงฉับพลันตามมาเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่
ใช่แต่เท่านั้น ยังมีรายงานด้วยว่า ไล่ๆ กับเหตุพายุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” ปรากฏว่า ได้เกิดพายุทอร์นาโด พัดถล่มกันในแบบแทรกซ้อนในบางพื้นที่อีกด้วย
โดยภัยธรรมชาติจากมหาวาตภัย ที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง และได้กลายเป็นอุทกภัยตามมา ก็คร่าชีวิตชาวสหรัฐฯ ไปแล้วอย่างน้อย 118 ราย ท่ามกลางความคาดหมายว่า ผู้เสียชีวิตจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก เพราะยังมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก
ส่วนผู้ได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเดือดร้อนจากมหาวาตภัยในครั้งนี้ มีจำนวนมากกว่า 4 ล้านคน ที่ทั้งบ้านเรือนของพวกเขาภินท์พังถล่มลงมา หรือไม่ก็ถูกน้ำท่วม รวมไปถึงต้องใช้ชีวิตในสภาพที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะระบบกระแสสไฟฟ้าขัดข้องจากพิษภัยของพายุ
โดยรัฐที่ได้รับความเสียหาย และประชาชนผู้คนได้รับความเดือดร้อนหนักที่สุด ได้แก่ 5 รัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ ได้แก่ ฟลอริดา จอร์เจีย เซาท์แคโรไลนา นอร์ทแคโรไลนา และเทนเนสซี
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า มีรัฐอื่นๆ ได้รับผลกระทบจากมหาวาตภัยครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่ความเดือดร้อนจะหนักหนาสาหัสไม่เท่ากับ 5 รัฐที่กล่าวไปข้างต้น เช่นรัฐทางใต้อย่างแอละแบมา กลุ่มรัฐทางตะวันออก อย่างเวอร์จิเนีย และเคนทักกี โดยผลกระทบจากยังลุกลามไปถึงรัฐทางมิดเวสต์ หรือตอนกลาง รวมไปถึงทางตะวันตกด้วย อย่างอิลลินอยส์ อินดีแอนา และโอไฮโอ
ท่ามกลางการช่วยเหลือกู้ภัย ตลอดจนเก็บกู้ซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ที่แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ของทางการ ก็ยังเอ่ยปากเอง โดยในบางพื้นที่น้ำยังคงท่วมสูง เช่น ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ทางเจ้าหน้าที่ของทางการท้องถิ่น ก็คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำที่ท่วมสูงมีแนวโน้มว่า จะมากเป็นประวัติการณ์ ในระดับที่หนักที่สุดในรอบ 100 ปีเลยทีเดียวก็ว่าได้ ส่งผลทำให้เป็นอุปสรรคที่ยากลำบากต่อการเก็บกู้ซากปรักหักพังของบรรดาสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้น รวมถึงการจัดการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ แก่เหล่าผู้ประสบภัย อีกจำนวนหลายหมื่นคน ที่อพยพออกจากบ้านเรือนไปหลบภัยตามศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆ ตามการประกาศแจ้งเตือนของทางการ
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับคำเตือนของทางการ ก่อนหน้าที่จะเกิดพายุใหญ่นี้ ก็มีรายงานว่า ประชาชนชาวสหรัฐฯ หลายรายไม่เชื่อคำเตือนดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนหลายราย ต้องเสียชีวิต หรือไม่ก็เป็นผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ยกตัวอย่าง ที่รัฐฟลอริดา ประชาชนหลายรายได้หนีน้ำที่ท่วมสูง โดยขึ้นเป็นอาศัยบนหลังคา เป็นต้น ทำให้ทางการต้องจัดการให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่บรรดาผู้ประสบภัยเหล่านี้ด้วย นอกเหนือจากการบรรเทาทุกข์ตามศูนย์พักพิงชั่วคราวต่างๆ แล้ว
ตามการประเมินของทางการสหรัฐฯ ก็ระบุว่า พิษภัยของพายุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” ลูกนี้ สร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 647,400 ล้านบาท)
นอกจากนี้ มหาวาตภัยเฮอร์ริเคน “เฮลีน” ยังส่งผลกระทบพ่นพิษในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ในกระบวนการผลิตน้ำมันดิบและผลิตก๊าซธรรมชาติ ของสหรัฐฯ ในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและอาจจะมีผลต่อความอ่อนไหวต่อตลาดพลังงานโลกได้อีกด้วย
โดยจากพายุเฮอร์ริเคน “เฮลีน” ที่พัดถล่มเข้ามา ก็ทำให้การผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ที่กำลังมีขึ้นเป็นประจำวันนั้น ต้องหยุดชะงักไป
มีรายงานว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในพื้นที่ดังกล่าวต้องหยุดชะงักระงับไปชั่วคราว จำนวน 427,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นถึงร้อยละ 24 หรือเกือบ 1 ใน 4 เลยทีเดียวจากการผลิตนับตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา
เช่นเดียวกับการผลิตก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ในอ่าวเม็กซิโก ต้องระงับไปชั่วคราวจำนวน 343 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 18 หรือเกือบ 1 ใน 5 นับตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้วเป็นต้นมา
ทั้งนี้ นอกจากระงับการผลิตแล้ว ก็ยังมีการอพยพคนงานจากแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติถึงขจำนวน 9 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของจำนวนทั้งหมดออกพ้นอ่าวเม็กซิโก เพื่อความปลอดภัยของคนงานเหล่านั้น