วันที่ 30 ก.ย.67 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกทม.ดินแดง นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต หัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

ที่ประชุมสภา กทม.ได้รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบกันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปีในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนี้ผูกพัน) ของหน่วยรับงบประมาณกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีโครงการที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาแล้ว เห็นชอบให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนีผูกพัน) คือ โครงการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีการจราจรและความปลอดภัย ของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 จำนวนเงิน 194,600,000 บาท ของสำนักการจราจรและขนส่ง โดยมี นายนภาพล จีระกุล นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร และนางอนงค์ เพชรทัต กรรมการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นชอบ

 

นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ในฐานะกรรมการเสียงข้างมาก เห็นชอบ กล่าวว่า โครงการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีการจราจรและความปลอดภัย ของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 หรือ การจัดทำห้อง Command room ที่ กทม.ดินแดง จะทำให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์แบบอัจฉริยะและสามารถ บูรณาการข้อมูลจากกล้อง CCTV และภาพออนไลน์ได้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถรับข้อมูลแบบเรียลไทม์จากหลายแหล่งในคราวเดียวได้ ซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์สถานการณ์มีความแม่นยำมากขึ้นและสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วกว่าเดิม รวมถึง มีการตอบสนองอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ด้วยระบบบริหารจัดการสถานการณ์แบบอัจฉริยะ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถรวบรวมและประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สามารถดึงข้อมูลย้อนหลังได้ มีการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือผิดปกติ ทำให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนเหตุผลที่ต้องจัดทำที่ กทม.ดินแดง เนื่องจาก ที่ กทม.เสาชิงช้า มีแผนจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และไม่มีห้องสำหรับรองรับการประชุมสำหรับการบริหารสั่งการสถานการณ์เมื่อมีเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือต้อนรับหน่วยงานที่มาศึกษาดูงานของกรุงเทพมหานคร ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่จึงไม่สามารถจัดทำห้องรองรับการประชุมจำนวนคนมาก ๆ หรือติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการประชุม ส่วนที่ กทม.ดินแดง มีสถานที่พร้อมและเพียงพอ โดยโครงการดังกล่าว วัตถุประสงค์คือ สามารถทราบข้อมูลระบบทั้งหมด วิเคราะห์เหตุการณ์ ปัญหา และสั่งการได้ในจุดเดียว 

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ กทม.เสาชิงช้าไม่ใช่ห้อง Command Center แต่เป็นห้อง cctv มีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบกล้องเท่านั้น ไม่ใช่หน่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ การสร้างห้อง Command ที่ กทม.ดินแดง จะช่วยรวบรวมข้อมูลในจุดเดียว เพื่อประเมิน วิเคราะห์สถานการณ์ เช่น น้ำท่วม ฝุ่น PM2.5 และช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นต้น ไม่ใช่เรื่องการจราจรอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยรอบด้าน สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกได้

 

ด้านนายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย ไม่เห็นชอบ กล่าวว่า จำนวนเงินกว่า 194 ล้านบาท สามารถพัฒนาปรับปรุงห้อง cctv ที่มีอยู่เดิมได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ทั้งหมด ในอนาคตหาก กทม.เสาชิงช้า จะถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ยังมีหน่วยงาน เช่น สำนักเทศกิจ ประจำการอยู่ ดังนั้น ควรออกแบบให้ห้อง Command อยู่ที่ กทม.เสาชิงช้า และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะกล้อง cctv ต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อประหยัดงบประมาณ และนำงบฯ ไปใช้ด้านอื่นต่อไป นอกจากนี้ ผู้บริหารควรตอบให้ชัดเจนว่าโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณทั้งหมดเท่าไรในระยะต่อไปจนเสร็จสิ้น และต้องจ้างบุคลากรและค่าบำรุงรักษาเท่าไร ซึ่งการใช้งบประมาณไม่ได้หยุดที่ 194 ล้านบาทเหมือนที่พูดกันในวันนี้

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม.มีมติเห็นชอบให้กันเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไว้เบิกเหลื่อมปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (แบบไม่มีหนีผูกพัน) เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งศูนย์ควบคุมและบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีการจราจรและความปลอดภัย ของกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 จำนวนเงิน 194,600,000 บาท ของสำนักการจราจรและขนส่ง จำนวน 30 คน ไม่เห็นชอบ 8 คน งดออกเสียง 1 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 40 คน