"พร้อมพงศ์" ลุยเช็กบิล "ลุงป้อม" บุก "ตม." ขอเอกสารหลักฐานการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมสภาฯ ชี้ท้าทายประชาชนเจ้าของเงินภาษี จี้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ขณะที่ "เรืองไกร" เตรียมร้อง "กกต." สอบ "นายกฯอิ๊งค์" ถือหุ้นอัลไพน์ เข้าข่ายพ้นตำแหน่งหรือไม่

 ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 30 ก.ย.67 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบวันลา มา ขาด ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งได้ข้อมูลมาจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66 จนถึงปัจจุบัน พบว่า พล.อ.ประวิตร ลาประชุมโดยอ้างว่าลาป่วยและติดภารกิจถึง 84 ครั้ง จากวันประชุมทั้งหมด 95 ครั้ง และในวันประชุมสภาฯล่าสุดก็ยังไม่พบว่า พล.อ.ประวิตร เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภาฯแต่อย่างใด ซึ่งพฤติกรรมของพล.อ.ประวิตรส่อให้เห็นว่าน่าจะไม่สนใจกระแสสังคมและเหมือนน่าจะท้าทายประชาชนเจ้าของเงินภาษี จึงจำเป็นต้องตรวจสอบต่อ

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า การเดินทางมาที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ในวันนี ตนเองโดยขอใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 41 (2) เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐ และขอปฎิบัติหน้าที่ปวงชนชาวไทยตามมาตรา 50(10) รวมถึงขอใช้สิทธิ์ตามพรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. 2540 เพื่อขอข้อมูลของพล.อ.ประวิตรที่ขาดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งน่าจะใช้การลาเป็นฉากบังหน้าโดยแจ้งลา ว่าเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเดือนมี.ค. 67 รวม 3 วัน เดือนมิ.ย. 67 จำนวน 3 วัน เดือนก.ค.และเดือนส.ค.อีกเดือนละ 2 วัน รวมทั้งหมด 8 วัน โดยขอทราบว่ามีการเดินทางไปจริงหรือไม่ และหากเดินทางไปต่างประเทศจริง เดินทางอย่างไร สายการบินอะไร ค่าใช้จ่ายเป็นไปตามระเบียบของทางราชการหรือไม่

 “ผมได้ข้อมูลจากผู้ร้องซึ่งเป็นพลเมืองดีว่า การเดินทางน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของป.ป.ช. ก็เลยต้องมาตรวจสอบว่าเดินทางอย่างไร มีใครน่าจะร่วมสนับสนุนให้กระทำความผิดหรือไม่หรือตัวการร่วม แล้วจากข้อมูลที่ผู้ร้องมาว่าการเดินทางไปต่างประเทศของพล.อ.ประวิตรนั้นที่มีการลาประชุมสภา น่าจะเป็นกิจกรรมและพฤติกรรมที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะและผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่เป็นผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่า ผมขอยืนยันว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่การดิสเครดิต หรือหวังผลทางการเมืองเหมือนที่ฝ่ายพลเอกประวิตรออกมากล่าวหาผม  แต่เป็นการตรวจสอบเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จนกว่าพล.อ.ประวิตร จะแสดงความรับผิดชอบโดยเข้าประชุมสภา หรือลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เช่นนั้นผมจะเดินหน้าตรวจสอบต่อไป" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า วันที่ 1 ต.ค.67 ประมาณ 9.09 น. ตนจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ กกต. ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) กรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2567 จนถึงวันที่ 3 ก.ย.2567 ว่าเข้าข่ายมีความไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 8 หรือไม่ และเข้าข่ายเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

กรณี บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด เพิ่งมีการโอนหุ้นจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ไปให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งเมื่อใช้เวลาตรวจสอบสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและหมายเหตุประกอบงบการเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว มีเหตุอันควรขอให้ กกต. ตรวจสอบต่อไป

ดังนั้น การที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2567 มาจนถึงปัจจุบัน แต่ในวันที่ 3 ก.ย.2567 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เพิ่งมาโอนหุ้นจำนวน 22,410,000 หุ้นในบริษัทดังกล่าวให้คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ กรณี จึงอาจทำให้เห็นได้ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ย่อมต้องรู้หรือควรรู้ว่า การเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว ซึ่งมีที่ดินจำนวน 444 ไร่นั้น ที่อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2308/2544 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวไปแล้ว ย่อมอาจจะเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ทั้งนี้ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2565 วันที่ 7 เม.ย.2565 และตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ.2/2566 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 21/2567 วันที่ 14 ส.ค.2567

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น ประกอบกับพยานเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและเอกสารข่าวที่เกี่ยวข้อง จึงน่าจะเพียงพอเพื่อให้ กกต. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม เพื่อส่งเรื่องกรณีที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.2567 จนถึงวันที่ 3 ก.ย.2567 ซึ่งบริษัทมีที่ดินจำนวน 444 ไร่ ที่อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2308/2544 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็วว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว หรือไม่

นายเรืองไกร สรุปทิ้งท้ายว่า ได้แนบสำเนางบการเงินของบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 และสำเนา บอจ.5 รวมทั้งเอกสารสำเนาข่าวที่เกี่ยวข้องให้ กกต.ด้วย แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดต่อสื่อมวลชน เนื่องจากบางส่วนเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

ทั้งนี้ แบบ บอจ.5 ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 นามสกุลคุณหญิงพจมาน สะกดด้วยคำว่า “ดามาพงษ์” แต่ตามแบบ บอจ.5 ณ วันที่ 4 ก.ย. 2567 นามสกุลคุณหญิงพจมาน สะกดด้วยคำว่า “ดามาพงศ์” นอกจากนี้ เลขหมายใบหุ้นของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ตามแบบบอจ.5 ณ วันที่ 30 เม.ย. 2567 ที่ระบุว่า  5229001-74700000 น่าจะตก 0 ไปหนึ่งตัว ที่ถูกควรจะเป็น 52290001-74700000