วันที่ 30 ก.ย.2567 เวลา 11.20 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เป็นประธานกมธ. พิจารณาเสร็จแล้ว

โดยรายงานของกมธ. พบการแก้ไขเนื้อหา เพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 7 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ  ที่ให้เติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา  9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น

ทั้งนี้ในการประชุม พบกมธ.เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็น และอภิปรายขอให้กลับไปใช้เนื้อหาเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การกลับมติของ กมธ. ในวันที่ 25 ก.ย. ทั้งที่ก่อนหน้านั้นกมธ.ได้ลงมติในทิศททางเดียวกัน และปฏิเสธคำแปรญัตติของนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ที่เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นในเรื่องรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้การกลับลำดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีใบสั่ง เพราะเมื่อวันที่ 24 ก.ย. นั้น มีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งนี้การลงมติของกมธ. ด้วย 17 เสียง ต่อ 1 เสียง นั้่นไม่งาม

“ขอสว.อย่าความจำสั้น เพราะการลงมติวาระแรก มีผู้ลงมติรับหลักการ 179 เสียง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นขอให้กฎหมายประชามติเป็นก้อนหินก้อนแรก เพื่อสร้างถนนประชาธิปไตย” น.ส.นันทนา กล่าว

ขณะที่นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก เนื่องจากการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน และตนทำงานในคณะดังกล่าวพบว่าเกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา

นายนิกร กล่าวว่า หาก สว. เห็นด้วยกับกมธ.เสียงข้างมาก ต้องกลับไปสภาฯ ทั้งนี้เชื่อว่าสภาฯ จะยืนยันตามร่างของตนเองเพราะได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์  ดังนั้นสิ่งที่ตามมา คือ ตั้งกมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ไม่มีข้อสรุป และส่งไปยังแต่ละสภา พิจารณา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้นสภาฯ ถึงจะลงมติ ซึ่งจะใช้ร่างของสภาฯ ไม่ผ่านวุฒิสภา

“สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ตามที่คณะกรรมการฯ เล็งกันไว้ คือ ทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 2 ก.พ.68 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย  ผมตั้งความหวังไว้ ผมอยากให้สว.เห็นดวยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูของประชาชนไว้” นายนิกร กล่าว

นายนิกร อภิปรายด้วยว่า ตนขอเสนอวันและเวลา รวมถึงโอกาส  คือ แม้สว.จะโหวตตามกมธ.ที่แก้ไข  ส่งไปสภาฯ 9 ต.ค. พิจารณาตั้งกมธ. ร่วมมกัน จากนั้นมีเวลา 16  - 23 ต.ค. กมธ.พิจารณาหาทางออก  ต่อมา วันที่24 ต.ค. กมธ.ร่วมกันส่งให้สองสภา  28 ต.ค. วุฒิสภาเห็นชอบตามร่างของกมธ.ร่วมกัน  จากนั้น 30 ต.ค. ให้ความเห็นชอบ  และ 31 ต.ค. สามารถทำตามกระบวนการของการประกาศใช้กฎหมาย และสามารถทำประชามติได้ทันวันที่ 2 ก.พ. 68 แต่หากทำไม่ทันเวลาจะไหลไป ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของพรรคใด แต่เป็นเรื่องว่าจะมีรัฐธรมนูญของประชาชนในยุคสมัยนี้ได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าส่วนของการอภิปรายของ สว. ต่อที่ประชุมในมาตราดังกล่าว พบว่ามีทั้งผู้ที่สนับสนุน และคัดค้านกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก

โดย นายพิสิษฐ์  อภิปรายว่าตนเสนอคำแปรญัตติให้กมธ.พิจารณาแก้ไข เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้มีเสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว ทั้งนี้ที่ระบุว่าไม่แก้กลัวว่าประชามติไม่ผ่านนั้น หากเปรียบเทียบกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และ 2560 พบว่าผู้ออกมาใช้สิทธิและคะแนนเสียงต่างผ่านเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นทั้งสิ้น ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าหลักการดังกล่าวจะทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก ส่วนที่ระบุเหตุผลว่ากลัวไม่ทันกับการเลือกตั้ง อบจ. ก.พ.68  ตนมองว่าสามารถใช้พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบันได้

“การแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีแต่เรื่องแก้จริยธรรมนักการเมือง แต่ไม่มีประเด็นเรื่องแก้เพื่อประชาชนทั้งนี้ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาเคยมีประชาชนเดินมาบอกหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหน ทั้งนี้ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหากับพรรคและนักการเมืองมากกว่า” นายพิสิษฐ์ อภิปราย

ขณะที่ นายสิทธิกร ธงยศ สว. อภิปรายว่า ตนเห็นว่าการแก้ไขเรื่องเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นของกมธ.นั้นชอบธรรมและถูกต้อง และขอชื่อชม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่ตามมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแก้ไขเกณฑ์ข้างมาก2 ชั้น ไม่เป็นปัญหา หากได้ 3 ชั้นยิ่งดี  อย่างไรก็ดีความพยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งนายก อบจ. นั้น เป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล เพราะขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัว ผู้สมัครนายก อบจ. แล้ว 70-80% ดังนั้น หากสว.ผ่านให้ทำประชามติวันดังกล่าว จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองทันที

“คนแก่ที่จะเลือกต้องปรึกษาหัวคะแนน ใบแรก เลือกตั้งนายก อบจ.  ใบสองคือ แก้เรื่องอะไรต้องถามหัวคะแนน เป็นเรื่องที่แอบแฝง ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่าย หรือ เป็นภาระสังคม อันอื่นเสียได้ ตอนนั้นจำนำข้าวเสียหาย 7 แสนล้านบาท เป็นเรื่องเล็กน้อยกับการทำประชามติกฎหมายแม่บท ดังนั้นต้องทำให้ปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมืองขอให้เป็นวันใหม่ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสงกรานต์ เพราะประชาชนกลับบ้านมากกว่าเลือก นาย อบจ. อย่าให้พรรคการเมืองครอบงำ มีประโยชน์ทับซ้อน” นายสิทธิกร อภิปราย

นายสิทธิกร อภิปรายต่อว่า ในการถามคำถามประชามติ หากสว.ผ่านไป ไม่รู้เขาจะตั้งคำถามอะไร หลีกไม่พ้นกับการจัดตั้ง มีระบบอุปถัมภ์ที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ไม่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือของนักการเมือง ตนเห็นควรว่า สว.ต้องตระหนักในประเด็นดังกล่าวเพราะเป็นผลประโยชน์ทางซ้อน ซึ่งเราหลงเกมนักการเมือง เขาจะกินหัวเรา

ทั้งนี้หลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของกมธ.เสียงข้างมาก 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง และ งดออกเสียง 9 เสียง

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับมาตราที่เหลือและสรุปทั้งฉบับ ก่อนลงมติในวาระสามว่าจะเห็นชอบด้วยทั้งฉบับหรือไม่ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก  167 เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้น จะส่งให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป