สถานการณ์ฝนเริ่มคลี่คลาย กรมชลฯ พร้อมบริหารจัดการน้ำฤดูฝนเดือนสุดท้ายควบคู่ไปกับการเก็บกักใช้แล้งหน้า
วันที่ 30 ก.ย.67 ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
ปัจจุบัน (30 ก.ย.67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 57,218 ล้าน ลบ.ม. (75% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 19,140 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 18,127 ล้าน ลบ.ม. (73% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 6,744 ล้าน ลบ.ม.
ด้านสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำปิงที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และตาก เริ่มคลี่คลาย แนวโน้มระดับเริ่มลดลง กรมชลประทาน ได้เร่งสูบน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชน พร้อมบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนให้ประชาชนได้กลับเข้าอยู่อาศัยได้โดยเร็วที่สุด
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุดที่สถานนีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,010 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก่อนที่จะไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามศักยภาพของระบบชลประทานและสอดคล้องกับปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ พร้อมควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในอัตรา 1,899 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีมูล แนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังต่ำกว่าระดับตลิ่ง ในขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูล จึงทำให้การระบายน้ำยังทำได้ดี
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 1 – 3 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนควบคู่ไปกับการเก็บกัก เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า ในส่วนของอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุ ให้พิจารณาพร่องน้ำตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามข้อสั่งการของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์