เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 30 ก.ย. 67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่วุฒิสภามีแนวโน้มที่จะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยให้ฟื้นใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น (double majority) ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรที่มีมติใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวหรือเสียงข้างมากธรรมดาว่า  เราต้องดูว่าท้ายที่สุดมติวุฒิสภา จะเห็นตามกรรมาธิการ (กมธ.) ของวุฒิสภาอย่างไรหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากลับมาสองชั้นก็แตกต่างจากมติของสภาฯ หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องเอาข้อบังคับมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งอาจมีกมธ.ร่วมกัน ซึ่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็จะช้ากว่าไทม์ไลน์ที่เป็นอยู่ที่ให้ทำพร้อมกับการเลือกสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในเดือนก.พ.ปี 68 ซึ่งไม่สามารถทำได้ อาจต้องมีการแยกการพิจารณาทำคนละครั้ง

 

“ทางออกที่ดีที่สุดคือการหารือร่วมกับหัวหน้าพรรคการเมืองที่ต้องคุยกันให้ชัด ว่าการเดินต่อไปควรจะเดินแบบไหน เช่น ขณะนี้มีข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เลยหรือไม่ โดยเสนอญัตติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ และถ้าผ่านรัฐสภาก็ไปทำประชามติเลย ซึ่งแนวทางนี้จะทำประชามติเพียงสองครั้ง ไม่จำเป็นต้องสามครั้งเหมือนเดิม ซึ่งนักวิชาการ และใครต่อใครได้ให้แนวทางมา ผมจึงอยากให้คุยกับหัวหน้าพรรคให้ชัด เพราะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายของรัฐบาลว่าควรจะเดินไปอย่างไร“ นายชูศักดิ์ กล่าว

 

เมื่อถามว่า การกลับไปทำประชามติสองชั้นทำให้การผลักดันรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จหรือยากขึ้นใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และรัฐบาลจำเป็นต้องเดินหน้าต่อเรื่องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องหารือว่าเราควรจะเดินอย่างไรต่อไป มีทางเลือกอะไรบ้าง

 

เมื่อถามว่า การคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง จะส่งผลไปถึงสว. หรือไม่ในการปรับการแก้ไขจากสองชั้นให้เหลือเพียงชั้นเดียวตามที่สภาฯเคยเห็นชอบ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตรงนั้นเกินไทม์ไลน์ไปแล้ว ปล่อยเป็นดุลพินิจของสว. แต่สมมติว่าสถานการณ์เป็นอยู่แบบนี้ โดยวุฒิสภากลับมาเป็นเกณฑ์ลงมติสองชั้น ในฐานะรัฐบาลก็มีนโยบายจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราก็มาเริ่มต้นพูดคุยกันดีหรือไม่ ว่าท้ายสุดควรจะเดินไปอย่างไรจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น และนโยบายรัฐบาลก็ยังมีอยู่โดยได้แถลงต่อรัฐสภาไปแล้ว แต่ขั้นตอนคือควรพูดคุยแก้ไขปัญหากันอย่างไรเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้

 

เมื่อถามว่า การพูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง ต้องการให้พรรคการเมืองหนึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อสว.ด้วยใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า อย่าไปพูดแบบนั้นมันไม่ดี เอาเป็นว่าตนขอเสนอให้มานั่งจับเข่าคุยกันในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาลด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยหลายพรรค ว่าถ้า สว.เดินไปแบบนี้แล้วรัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไร