ยอดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนส.ค.67 พบมีจำนวน 7,599 ราย เพิ่มขึ้น 175 ราย หรือ 2.36% ขณะที่ช่วง 8 เดือน (มกราคม-สิงหาคม 2567) ที่ผ่านมาพบยังมีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากหลายปัจจัยด้านความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่คึกคัก ทั้งนี้ยังพบว่า ธุรกิจร้านอาหาร เป็นม้ามืดตลอด 3 ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ต่อเนื่อง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท และมีกำไรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารให้สามารถแข่งขันได้ทั้งการยกระดับร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT และสร้างแบรนด์ร้านอาหารให้ส่งต่อในรูปแบบแฟรนไชส์ได้
 
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์สถานการณ์การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนสิงหาคม 2567 พบว่า มีจำนวน 7,599 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้น 175 ราย หรือ 2.36% และทุนจดทะเบียน 17,649.67 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 ลดลง 7,256.08 ล้านบาท หรือ 29.13% ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า เดือนสิงหาคม 2566 มีธุรกิจตั้งใหม่จดทะเบียนทุนสูง 4,099.50 ล้านบาท จึงทำให้ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 2567 ลดลงผิดปกติ แต่เมื่อ  ไม่นับรวมธุรกิจที่จดทะเบียนสูงดังกล่าว ทุนจดทะเบียนเดือนสิงหาคม 2567 จะลงลงเพียงเล็กน้อยอยู่ที่ 3,156.58 ล้านบาท คิดเป็น 15.17% ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 538 ราย ทุนจดทะเบียน 1,082.69 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 508 ราย ทุนจดทะเบียน 1,745.75 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 366 ราย ทุนจดทะเบียน 658.62  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.08% 6.68% และ 4.82% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจในเดือนสิงหาคม 2567 ตามลำดับ
 

โดยการจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวน 61,819 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 261 ราย คิดเป็น 0.42% ทุนจดทะเบียน 186,432.87 ล้านบาท ลดลง 283,768.58 ล้านบาท คิดเป็น 60.35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สืบเนื่องมาจากในปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวมและแปรสภาพ ทั้งนี้ 8 เดือนแรกมีประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4,698 ราย ทุนจดทะเบียน 19,367.73 ล้านบาท, ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,674 ราย ทุนจดทะเบียน 10,393.74 ล้านบาท และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,838 ราย ทุนจดทะเบียน 5,810.03 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.60% 7.56% และ 4.59% จากจำนวนการจัดตั้งธุรกิจตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมตามลำดับ
 
สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายตัวเติบโตในธุรกิจทุกประเภท อาทิ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงแรมที่พักและการท่องเที่ยว ธุรกิจด้าน Soft-power เช่น ผลิตสุราพื้นบ้าน สื่อภาพยนต์ ธุรกิจการดูแลสุขภาพ ธุรกิจ e-Commerce และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงองค์กร เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การส่งออกที่ขยายตัว การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังคงต้องติดตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศระยะสั้นได้ ทั้งนี้ กรมฯ ยังคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจปี 2567 อยู่ที่ 90,000 - 98,000 ราย
 
ขณะที่การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวน 2,063 ราย เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 56 ราย คิดเป็น 2.79% และทุนจดทะเบียน 13,813.93 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2566 เพิ่มขึ้น 6,775.91 ล้านบาท คิดเป็น 96.28% โดยในเดือนนี้มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกเกิน 1,000 ล้านบาท คือ ธุรกิจโรงงานผลิตและจำหน่าย ให้เช่าเทปคาสเซ็ท แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงฯที่มีทุนจดทะเบียน 4,411.50 ล้านบาท หากไม่รวมธุรกิจรายนี้ทุนจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจเดือนสิงหาคม 2567 จะลดลงเพียง 2,364.41 ล้านบาท คิดเป็น 33.59%  สำหรับประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 168 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 467.65 ล้านบาท, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 110 ราย ทุนจดทะเบียน 483.42 ล้านบาท และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 77 ราย ทุนจดทะเบียนเลิก 156.42 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8.14% 5.33% และ 3.73% จากจำนวนการเลิกประกอบธุรกิจในเดือนสิงหาคมตามลำดับ 
 
ทั้งนี้การจดทะเบียนเลิกสะสม 8 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีจำนวน 9,992 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 979 ราย คิดเป็น 8.92% ทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 99,393.33  ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 35,222.68 ล้านบาท คิดเป็น 54.89% ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 8 เดือนแรกสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไปทุนจดทะเบียนเลิกจะอยู่ที่ 51,183.99 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนจำนวนการจดทะเบียนเลิก คิดเป็น 16.16% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 8 เดือนแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าจำนวนการจดทะเบียนเลิกใน 8 เดือนแรกของปี 2567 มีสัดส่วนที่น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ที่มีสัดส่วน 17.82%  ของการจัดตั้งธุรกิจ
 
ขณะที่ 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบ ธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 535 ราย  แบ่งเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอ หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือ ความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 392 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 100,062 ล้านบาท มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามา ลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 136 ราย เงินลงทุน 53,176 ล้านบาท, สิงคโปร์ 82 ราย เงินลงทุน 8,438 ล้านบาท  และสหรัฐอเมริกา 76 ราย เงินลงทุน 3,589 ล้านบาท
 
สำหรับการวิเคราะห์รายธุรกิจในเชิงลึกพบว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ‘ธุรกิจร้านอาหาร’ มีแนวโน้มการเติบโตแบบก้าวกระโดดภายหลังจากผ่านช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีการจัดตั้งธุรกิจและทุนจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น ในปี 2566 มีการจัดตั้งธุรกิจ 4,017 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 996 ราย คิดเป็น 32.97% ทุนจดทะเบียน 8,078.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 1,490.29 ล้านบาท คิดเป็น 22.62% โดย 8 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-ส.ค.) มีธุรกิจร้านอาหารที่จัดตั้งใหม่ 2,847 ราย มูลค่าทุน 5,826.03 ล้านบาท นิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 44,508 ราย มูลค่าทุน 220,916.70 ล้านบาท เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S จำนวน 43,874 ราย คิดเป็น 98.58% ธุรกิจขนาดกลาง M จำนวน 521 ราย คิดเป็น 1.17% และธุรกิจขนาดใหญ่ L จำนวน 113 ราย คิดเป็น 0.25% โดยส่วนใหญ่แล้วจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทจำกัด รองลงมาคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและบริษัทมหาชน จำกัด ตามลำดับ และมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด (เขตวัฒนา บางรัก และคลองเตย) รองลงมาตั้งอยู่ในภาคใต้ (ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่) และภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และตราด)
 
โดย 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 63,000 ล้านบาท ในปี 2564 มีรายได้179,645.68 ล้านบาท ปี 2565 มีรายได้ 244,412.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.05% และ ปี 2566 มีรายได้ 306,618.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.45% ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารสามารถทำกำไรดีขึ้น (หรือขาดทุนลดลง) โดยเฉพาะในปี 2566 ร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีกำไรสูงถึง 10,369.91 ล้านบาท คิดเป็น 106.90% ของกำไรปี 2566 สำหรับการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจร้านอาหารพบว่า มูลค่าลงทุนของต่างชาติอยู่ที่ 29,071.35 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 6,075.23 ล้านบาท คิดเป็น 20.90%, ญี่ปุ่น 3,162.46 ล้านบาท คิดเป็น 10.88%, จีน 2,326.24 ล้านบาท คิดเป็น 8.00%, อินเดีย 2,168.02 ล้านบาท คิดเป็น 7.46% และฝรั่งเศส 1,607.03 ล้านบาท คิดเป็น 5.53% 
 
 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโตมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มาช่วยบริหารจัดการร้าน การสั่งอาหารหรือการโฆษณาร้านผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารเป็นที่รู้จักและเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย โดยปัจจุบันไม่จำเป็นต้องตั้งร้านในทำเลที่คนพลุกพลานซึ่งมีการลงทุนที่สูงอีกต่อไป นอกจากนี้ การพัฒนาสินค้าให้เข้ากับความต้องการของคนยุคใหม่ การเลือกใช้วัตถุดิบในการทำอาหารที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ วัตถุดิบที่เป็นออแกนิก โปรตีนที่ทำจากพืช (Plant-based) วัตถุดิบจากต่างประเทศที่นำเข้าได้ง่ายขึ้น และการสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ หรือการให้บริการที่สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า อาทิ การเสริฟอาหารแบบ Fine Dining และ Chef’s Table ล้วนส่งผลต่อการดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้เข้าร้านและเปิดประสบการณ์ใหม่ได้มากขึ้น การตกแต่งบรรยากาศหรือการให้บริการ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ร้านอาหารเป็นที่นิยมและมีเอกลักษณ์ที่น่าจดจำ เพราะร้านอาหารไม่เพียงแต่จะขายอาหารเท่านั้น แต่ยังต้องมีมุมสวยๆ ให้ลูกค้าสามารถถ่ายรูปเพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดียซึ่งจะช่วยสร้างการรับรู้ที่ดีผ่านผู้ใช้บริการจริงแบบปากต่อปากได้แบบไม่รู้จบ 
 
สำหรับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารให้สามารถแข่งขันได้มาอย่างต่อเนื่อง โดยการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้านอาหารไทย ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่ท้องถิ่นควบคู่กับการเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านอาหารไทย รวมถึงลูกค้าไทยและต่างชาติสามารถเดินเข้าร้าน Thai SELECT ได้ด้วยความมั่นใจ ปัจจุบันมีร้านอาหาร Thai SELECT ทั่วประเทศ 496 ร้าน นอกจากนี้ ยังพัฒนาให้ร้านอาหารเกิดการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ที่จะสร้างรายได้ให้กับธุรกิจแบบก้าวกระโดด เริ่มตั้งแต่การสร้างธุรกิจให้สามารถต่อยอดเป็นแฟรนไชส์ มีมาตรฐานสากล และมีโอกาสนำเสนอธุรกิจได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ร้านอาหารที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯจำนวน 248 ราย และก้าวสู่ตลาดต่างประเทศแล้ว 27 ราย ใน 31 ประเทศทั่วโลก

#SuperDBD #กระทรวงพาณิชย์ #ข่าววันนี้ #สยามรัฐออนไลน์ #สยามรัฐ