วันที่ 29 ก.ย. 2567 "รองนายกฯประเสริฐ" เผยรัฐบาลเร่งฟื้นฟูอุทกภัยภาคเหนือ คืบหน้ากว่าร้อยละ 80 ระดมทุกฝ่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอปชช.อย่าหลงเชื่อ "ข่าวปลอม"
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ( ศปช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และลำปาง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม พร้อมทั้งแนวทางการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับสู่สภาพเดิม และมาตรการเยียวยาผู้ประสบภัย พบว่า การดำเนินการแผนฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยเชียงรายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยหลายพื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองเชียงรายเริ่มกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ตุลาคม 2567 พื้นที่ส่วนใหญ่ของ อ.เมืองเชียงราย และอ.แม่สาย จะกลับคืนสู่สภาพปกติได้ โดยมาตรการเร่งด่วนคือเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา และสัญญาณโทรคมนาคม การฟื้นฟูสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนกลุ่มเปราะบาง การคืนสภาพเส้นทางสัญจร ซึ่งหลายพื้นที่มีความคืบหน้ากว่า 80 % แล้ว
ขณะที่มาตรการเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ในเบื้องต้นได้ดำเนินการตามที่มติครม.เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 เห็นชอบให้อนุมัติกรอบวงเงิน 3,045 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบอุทกภัย โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ (อ.เมืองเชียงราย แม่สาย ขุนตาล) จ.เชียงราย รวม 3,623 ครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน 18,115,000 บาท
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ศปช.ได้มีดำเนินการระดมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และส่วนกลาง ติดตามรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมแจ้งเตือนและให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที โดยในส่วนของกระทรวงดีอี ได้มอบหมายให้กรมอุตุนิยมวิทยาเฝ้าติดตามสภาพอากาศ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทันที หากมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์ที่รุนแรง
"ผมขอแสดงความเสียใจกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดยรัฐบาลได้เร่งรัดการฟื้นฟูและเยียวยาประชาชนผู้ประสบอุทกภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ รวมถึงให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น และแจ้งเตือนให้ประชาชนได้รับทราบในทันที เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด"
ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาพบว่ามีการเผยแพร่ข่าวปลอม เกี่ยวกับสภาพอากาศ อุทกภัย และน้ำป่าไหลหลากอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการอ้างถึงข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ หรือเผยแพร่ข้อมูลอ้างถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่รุนแรง การเกิดพายุลูกใหม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีความผิดทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คอมฯ จึงขอเตือนประชาชน อย่าได้หลงเชื่อ หรือแชร์ ข่าวปลอมที่ไม่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน ควรตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น กระทรวงดีอี โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม Line OA ชื่อว่า "HelpT (น้ำท่วม ช่วยด้วย)" เป็นช่องทางการสื่อสารระหว่างประชาชนกับหน่วยงานท้องถิ่นของจังหวัด และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฯลฯ ในพื้นที่ 49 จังหวัด โดยประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินและขอความช่วยเหลือ อาทิ การขออพยพ การขออาหาร อุปกรณ์ส่องสว่าง กระสอบทราย ฯลฯ ซึ่งคำขอจากประชาชนจะถูกส่งไปยังหน่วยงานท้องถิ่นด้วยขั้นตอนง่ายๆ โดยการแอด LINE OA: @HelpT ส่งรูป ระบุพิกัด สามารถติดตามสถานะและผลการดำเนินการได้ นอกจากนี้ HelpT ยังมีการรวบรวมเบอร์โทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ และให้ข้อมูลพยากรณ์ปริมาณฝนที่จะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่จากแพลตฟอร์ม FAHFON (ฟ้าฝน)