นับเป็นมหาอุทกภัยที่นำไปสู่มหันตภัยทางธรรมชาติต่อทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภูมิภาคยุโรปกลาง โดยแท้

สำหรับ เหตุน้ำท่วมใหญ่ในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรปกลาง ในเดือนกันยายนที่กำลังจะผ่านพ้นไป

แม้ว่า “มวลน้ำ” ได้ลดน้อยถอยลงไปแล้ว แต่สภาพความเสียหายของทรัพย์สินในพื้นที่ที่ “น้องน้ำ” บุกเข้าไปเยือน ยังปรากฏร่องรอย รวมถึงเศษดินโคลนที่พัดถล่มตามมาด้วยนั้น ยังคงทิ้งไว้ให้ดูต่างหน้า

โดยพื้นที่ประสบกับมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่บังเกิดขึ้น ก็มีหลายประเทศด้วยกันของภูมิภาคยุโรปกลาง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก สโลวะเกีย โครเอเชีย เซอร์เบีย ฮังการี และโรมาเนีย ซึ่งก็เท่ากับว่า มวลน้ำได้ลามเลยไปถึงภูมิภาคยุโรปตะวันออกกันเลยก็ว่าได้

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภูมิภาคดังกล่าว ก็เป็นอิทธิพลของพายุ “บอริส” ซึ่งทางสำนักงานที่เฝ้าระวังด้านภูมิอากาศ หรืออุตุนิยมวิทยาของยุโรป ได้ประกาศแจ้งเตือนมาตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมแล้ว ว่าพายุจะพัดถล่มในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรปในเดือนกันยายนนี้ ก่อนพายุลูกนี้เริ่มก่อตัวและพร้อมที่จะกระหน่ำในภูมิภาคแห่งนั้นจริงๆ ก็เป็นวันที่ 8 กันยายน ซึ่งความเร็วลมก็ต้องถือว่า รุนแรงไม่น้อย โดยในช่วงรุนแรงสุด ก็มีความเร็วลมเกินกว่า 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมงด้วยกัน ถึงขนาดทำให้สะพานคาโรลา ที่ใช้เป็นทางสัญจรข้ามแม่น้ำเอลเบ ในเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี ต้องพังถล่มลงมากันเลยทีเดียว

ทั้งนี้ อิทธิพลของพายุบอริสลูกนี้ ก็ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ฝนตกลงมาอย่างขนานใหญ่ และตกหนักอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน ตั้งแต่วันที่ 12 – 15 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งทางกลุ่ม “ระบุสภาพอากาศโลก” หรือดับเบิลยูดับเบิลยูเอ (WWA : World Weather Attribution) ที่ศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังในเรื่องสภาพภูมิอากาศของโลกเรา ก็ได้ระบุว่า ฝนที่ตกลงในภูมิภาคยุโรปกลางตลอดทั้ง 4 วันในช่วงเวลาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จัดว่าเป็น ฝน 100 ปีก็ว่าได้ คือ ตกหนักที่สุดในรอบ 100 ปี หรืออาจจะรุนแรงที่สุดในรอบ 300 ปี ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เป็นไปได้

เรียกว่า 100 – 300 ปี โลกเราจะได้เห็นฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวันอย่างนี้กันสักครั้ง เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นกันไม่บ่อยนัก

นอกจากนี้ จากฝนที่ตกลงอย่างหนักและต่อเนื่องข้างต้น ก็ยังทำให้ในพื้นที่ดังกล่าว มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมหาศาลมากกว่าปกติอีกด้วย

ทางดับเบิลยูดับเบิลยูเอ ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเฉพาะในช่วง 4 วันดังกล่าวนั้น ก็เป็นปริมาณที่มากกว่าน้ำฝนที่ตกลงมาตามปกติถึง 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ส่งผลให้เกิดมวลน้ำปริมาณมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศต่างๆ ของภูมิภาคยุโรปกลางและลามมาถึงยุโรปตะวันออกตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

ถนนสายหนึ่งในเมืองออสตราวา ประเทศสาธารณรัฐเช็ก กลายสภาพเป็นแม่น้ำ หลังฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องหลายวัน จนเกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน (Photo : AFP)

โดย ดร.ฟรีเดอริก ออตโต ซึ่งเป็นนักภูมิอากาศ และเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สาขาสภาพภูมิอากาศ แห่งวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยของดับเบิลยูดับเบิลยูเอ กล่าวว่า เหตุฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน จนก่อให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลันหลายในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างย่านภูมิภาคยุโรปกลาง เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นผลพวง หรือผลกระทบจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อนอย่างแท้จริง ซึ่งวิกฤติภาวะโลกร้อนข้างต้น ก็เป็นผลจากการกระทำของมนษย์เราเอง ที่ทำให้โลกร้อนขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นต้นมา จากการกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เราใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน เพิ่มมากขึ้นซึ่งเริ่มในยุคดังกล่าว (ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1750 – 1850 หรือ พ.ศ. 2293 – 2393)

ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัย พบว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส อันสืบเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จนทำให้โลกของเราร้อนขึ้น มีอุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ โดยอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ก็ส่งผลทำให้ฝนตกหนักขึ้น และตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น จนทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่อย่างที่เห็น

สภาพด้านหน้าของอาคารรัฐสภา ประเทศฮังการี ในกรุงบูดาเปสต์ หลังจากมวลน้ำได้ท่วมมาถึงบันไดของอาคารรัฐสภา หลังภูมิภาคยุโรปกลางเผชิญฝนตกหนักต่อเนื่องนานถึง 4 วัน (Photo : AFP)

ทางด้าน คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปอซนาน ประเทศโปแลนด์ ซึ่งร่วมศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วยนั้น ก็ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่เพิมสูงขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลกเราด้วยกันทั้งสิ้น โดยทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นไป ก็จะส่งผลให้ความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นไปด้วยที่ราวๆ ร้อยละ 7 ซึ่งความชื้นในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ก็มีผลต่อฝนที่จะตกลงมายังโลกมนุษย์ตามมา

พร้อมกันนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์ยังเตือนด้วยว่า อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงเกินกว่า 1.3 องศาเซลเซียสเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนยุคปฏิวัติสาหกรรม โดยอาจจะเพิ่มไปถึง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นดังกล่าว ก็จะยิ่งทำให้ฝนตกลงยังโลกมนุษย์หนักขึ้น ต่อเนื่องยาวนานมากขึ้น ก่อนที่จะก่อให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ตามมา ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง โลกเราก็จะเสี่ยงที่จะเผชิญกับน้ำท่วมใหญ่หนักมากขึ้นร้อยละ 5 และเกิดบ่อยขึ้นมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว หากยังปล่อยให้สถานการณ์ของวิกฤติภาวะโลกร้อนยังเป็นอยู่อย่างนี้

นอกจากนี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ ยังเตือนด้วยว่า หากโลกเรายังไม่ทำอะไร ก็คาดว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นมิใช่เพียง 1.3 องศาเซลเซียสอย่างที่เป็นอยู่ หรือ 2 องศาเซลเซียสในอนาคตอันใกล้ แต่อาจจะถึง 3 องศาเซลเซียส สำหรับสภาพภูมิอากาศของโลกเราในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ ความรุนแรงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ก็จะทวีเพิ่มมากขึ้นไปด้วย

กล่าวถึงความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ ตามการเปิดเผยของบริษัทประกันภัยแกลลาเกอร์เร ประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 2 – 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับความเสียหายทางทรัพย์สิน ซึ่งนอกจากน้องน้ำทำลายทรัพย์สินต่างๆ เป็นบริเวณกว้างแล้ว จนสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่ามหาศาลแล้ว ก็ยังคร่าชีวิตผู้คนไปอีกต่างหากด้วย ซึ่งมีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติครั้งนี้อย่างน้อย 24 รายด้วยกัน