วันที่ 28 กันยายน 2567 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า การฟื้นฟูหลังน้ำลด คือ การฟื้นฟูจากโคลนที่ทับถมและเศษซากปรักหักพัง แต่สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างเป็นปกติสุขและเร็วที่สุด โดยในส่วนของกระทรวงยุติธรรมได้นำผู้ต้องขังราชทัณฑ์ที่มีจิตอาสา และบุคคลในความดูแลของกรมคุมประพฤติ เข้ามาทำงานสาธารณะ รวมถึง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งจะมีคนที่อยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน เป็นคนในพื้นที่ได้ออกมาร่วมกันบูรณะ เช่นกันทำความสะอาด การดูแลผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง
สำหรับการเดินทางมามัสยิดแห่งนี้ ซึ่งมีทุกศาสนิกชน ซึ่งเมื่อเกิดอุทกภัยก็เป็นเป้าหมายแรกที่ประชาชนจะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากสถานที่แห่งนี้ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำเพิ่งลดไป ซึ่งหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมจะเข้าไปดูแล ไม่ว่าจะเป็นวัด มัสยิด โบสถ์ของศาสนาคริสต์ หรือไม่ว่าจะศาสนาใดก็ตาม โดยกรมราชทัณฑ์ได้เตรียมบุคลากรที่เป็นจิตอาสา ไม่ต่ำกว่า 2,000 คน บูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆในสังกัด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาให้เร็ว ซึ่งการเยียวยาเรื่องเงิน หรือเรื่องวัตถุก็จะตามมา ซึ่งวันนี้ ถือว่าเป็นการเยียวยาทางจิตใจ จิตวิญญาณของชุมชน จากความมีน้ำใจของเจ้าหน้าที่ และผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ให้โอกาสได้ออกมาทำงานสาธารณะ ซึ่งอาจได้มีวันพักโทษ
พันตำรวจเอก ทวี กล่าวถึงการฟื้นฟูของกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่น้ำท่วมของจังหวัดเชียงราย ว่า เชียงราย เป็นโมเดลการทำงานบรรเทาสาธารณภัยที่ได้รับความชื่นชม และอีกไม่กี่วันอาจจะชวนสื่อมวลชนไปติดตามการบูรณะสร้างบ้านน็อคดาวน์โดยผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งการทำงานไม่ใช่ว่าจะทำวันเดียวแล้วกลับ ซึ่งจะได้เห็นการทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ประสบอุทกภัยค่อนข้างร้ายแรง โดยกระทรวงยุติธรรม ได้ส่งตัวแทนเข้าไปร่วมกันอยู่ที่จังหวัดเชียงรายก็ได้รับความคุ้นเคย ไว้วางใจและเสียงชื่นชม
"ทุกๆ เช้า ผบ.เรือนจำจะส่งข้อความมาว่า วันนี้ประชาชนขอบคุณอย่างไร ดีใจอย่างไร ได้รับเสียงชื่นชมว่าราชทัณฑ์ทำงานไม่มีวันหยุด บางหน่วยอาจมา 1 - 2 ครั้ง แต่กับราชทัณฑ์ต้องมีแผน ต้องช่วยให้ประชาชนเขาอยู่ได้เสียก่อน โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง" พันตำรวจเอก ทวี กล่าว