นางสาวจินตนา พงษ์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี เปิดเผยถึงนโยบายของ อิมแพ็ค ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจไมซ์ (MICE) ได้ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืนประเทศไทย หรือ Thailand Sustainable Event Management Standard (TSEMS) โดยส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานตระหนักถึงแนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐาน TSEMS อย่างเป็นรูปธรรม ในทุกปีมีการนำเสนอโครงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในด้านต่างๆ
พร้อมกำหนดโครงการหลักครอบคลุมในทุกด้านทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานสะอาด, โครงการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า, โครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง, โครงการลดการใช้พลาสติก, โครงการจัดการน้ำเสียภายในพื้นที่เมืองทองธานี, โครงการจัดซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, โครงการขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste), โครงการ อิมแพ็ค ฟาร์ม, โครงการสนับสนุนการจ้างงานคนในชุมชน นักเรียน นักศึกษา, โครงการกล้า MICE, โครงการอิมแพ็ค ปันน้ำใจมอบรักสู่สังคม, โครงการสุนัขชุมชนเมืองทองธานี, โครงการจักรยานสายตรวจชุมชนเมืองทองธานี, โครงการ Hotel Sustainable ของโรงแรมในเครือ (โนโวเทล กรุงเทพ อิมแพ็ค และ ไอบิส กรุงเทพ อิมแพ็ค) เป็นต้น
“ในแต่ละปีนอกจากการนำเสนอโครงการใหม่ๆ ยังได้มีการติดตามผลสำเร็จของโครงการที่ดำเนินงานมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่พอใจอย่างมาก ในหลายโครงการสามารถลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและยังส่งผลดีทางด้านสังคม เศรษฐกิจด้วย ยกตัวอย่าง โครงการความมั่นคงทางพลังงาน โครงการลดการลดใช้พลังงาน ที่ทีมวิศวกร อิมแพ็ค ได้ดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ รูปแบบ Solar Rooftop เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์จากธรรมชาติมาอยู่ในรูปของพลังงานไฟฟ้า ซึ่งทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า อีกทั้งลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก เพราะระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ถือเป็นพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาด ส่งเสริมความยั่งยืน”นางสาวจินตนา กล่าว
ด้าน นายวิชัย บรรพบุรุษ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารอาคาร กล่าวเสริมถึงโครงการโซลาร์เซลล์ หรือ Solar Rooftop มีการติดตั้งใน 3 พื้นที่หลักของอิมแพ็ค ได้แก่ 1. หลังคาของอาคารชาเลนเจอร์ มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 593.64 กิโลวัตต์ 2. หลังคาอาคารจอดรถ P2 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 316.20 กิโลวัตต์ 3. หลังคาอาคารจอดรถ P.3 มีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 153 กิโลวัตต์ ซึ่งในแต่ละปีทั้ง 3 อาคารมีปริมาณการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ราว 1.1 ล้านกิโลวัตต์ และต้องการปริมาณผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในเร็วๆ นี้ ยังมีแผนติดตั้ง โซลาร์เซลล์ บนหลังคาอาคารชาเลนเจอร์อีกฝั่งเพิ่มด้วย
สำหรับ โครงการลดการใช้พลังงาน อิมแพ็ค ไม่เพียงปลูกฝังค่านิยมให้กับพนักงานในองค์กร แต่ยังทำความเข้าใจและเชิญชวนลูกค้าผู้จัดงาน ตระหนักและมีส่วนร่วมในการลดการใช้พลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน พร้อมตั้งเป้าลดการใช้พลังงานในพื้นที่จัดแสดงงาน โดยปี 2567 นี้ อิมแพ็ค ตั้งเป้าลดการใช้พลังงานในพื้นที่จัดแสดงงานอยู่ที่ 3% (อ้างอิงข้อมูลปี 2566 มาเป็นฐานเปรียบเทียบ) และจากตัวเลขสรุป 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม 2567) อิมแพ็ค ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ถึง 606,376 กิโลวัตต์/ชั่วโมง คิดเป็นอัตราค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้ราว 2,831,779 บาท สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 340,177 กิโลคาร์บอนไดออกไซด์ (kgCO2e) ซึ่งเทียบเท่าการลดการใช้พลังงานบ้าน 2 ชั้น ขนาด 16 ตารางวา จำนวน 1,810 หลังคาเรือน ความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ การเปลี่ยนหลอดไฟเดิมเป็นหลอดไฟ LED ตามอาคารและห้องจัดงานต่างๆ การควบคุมการทำงานของระบบปรับอากาศ (BBP) การเปลี่ยนม่านอากาศ หรือ Air Curtain รวมถึงการปรับใช้อุณหภูมิพื้นที่จัดงานที่เหมาะสม