คุ้มครองสิทธิฯ จ่าย “เยียวยาเหยื่อยาดองมรณะ” รายละ 1.1 แสน
สืบเนื่องจาก กรณีผู้เสียหายซื้อสุราและยาดองเถื่อนจากร้านริมทาง นำไปดื่มทำให้เกิดอาการเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรง คาดว่ามีส่วนผสมของเมทิลแอลกอฮอล์ โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2567 ณ พื้นที่บริเวณเขตคลองสามวา และพื้นที่ใกล้เคียง กรุงเทพมหานคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมากนั้น
วันนี้ (วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2567) นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร 3 ครั้งที่ 7/2567โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมประชุม และได้มีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา จำนวน 40 ราย โดยที่ประชุมมีมติพิจารณาอนุมัติให้จ่าย จำนวน 31 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,170,703 บาท ในจำนวนนี้ ได้มีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ทายาทกรณีเหยื่อยาดองมรณะ จำนวน 2 ราย โดยรายที่ 1 เป็นเงินจำนวน 113,841 บาท ประกอบด้วย (1) ค่ารักษาพยาบาล 1,300 บาท (2) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ 2,541 บาท (3) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย 50,000 บาท (4) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท และ (5) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และรายที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 111,815 บาท ประกอบด้วย (1) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ 1,815 บาท (2) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย 50,000 บาท (3) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท และ (4) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท ทั้งนี้ เป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559) ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล
โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวต่อว่า หากท่านตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม เช่น ถูกยิง ถูกแทง ถูกกระทำชำเราหรืออนาจาร ถูกรถชน ถูกทำร้ายร่างกาย จนทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยการกระทำผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ท่านมีสิทธิได้รับการเยียวยาจากรัฐ ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือสอบถามได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชม."