มกอช. เจรจา FTA ติดปีกสินค้าเกษตรไทยสู่แดนโสมขาว ผ่านกลไกหารือทวิภาคีแรกด้าน SPS
วันที่ 27 ก.ย.67 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มอบหมายให้นางสาวรวินันท์ ฉ่ำเฉลิม ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร เข้าร่วมประชุมเจรจาในฐานะหัวหน้าคณะทำงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Working Group on SPS: WG SPS) ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย–สาธารณรัฐเกาหลี (KTEPA) ครั้งที่ 2 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
การประชุมครั้งนี้ มกอช เป็นหน่วยงานหลักในการเจรจาบทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS Chapter) ภายใต้กรอบ KTEPA ซึ่ง มกอช ได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านมาตรการ SPS (Sub-Committee on SPS measures) เพื่อให้มีกลไกการเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคนิค และการปรึกษาหารือทวิภาคี (Technical Consultation) โดยฝ่ายเกาหลีใต้ตอบรับข้อเสนอของไทย
ความสำเร็จของการเจรจาในครั้งนี้ จะช่วยขยายตลาดการค้าสินค้าเกษตรของไทยไปยังเกาหลีใต้ เสริมสร้างความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนกฎระเบียบด้านการส่งออก นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ การทำงานวิจัยร่วม ซึ่งจะช่วยผลักดันการค้าสินค้าเกษตรและอาหารใหม่ที่ตอบสนองต่อความท้าทายในอนาคต อาทิ แหล่งโปรตีนทางเลือก อาหารใหม่ (Novel Foods) และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านมาตรการ SPS เป็นครั้งแรกระหว่างไทยและเกาหลี จะทำให้ทั้งสองประเทศได้มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการเกิดข้อพิพาททางการค้า รวมทั้งอำนวยความสะดวกทางการค้าให้เป็นไปอย่างราบรื่น
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของไทยในด้านสินค้าเกษตร โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ไก่สด ไก่แปรรูป สินค้าประมง และผลไม้สด สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ เฉลี่ยปีละ 60,000 ล้านบาท การเจรจาในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าให้แน่นแฟ้นขึ้น แต่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยเข้าถึงผู้บริโภคในเกาหลีใต้ได้มากขึ้น ด้วยการขยายช่องทางการส่งออกและการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โอกาสที่สำคัญภายใต้ FTA ฉบับนี้ คือการขยายตัวของสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพและมาตรฐานสูงของไทย อาทิ ทุเรียน มะม่วง ส้มโอ มังคุด และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรไทยในการเจาะตลาดผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้