วันที่ 27 ก.ย.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสนธิญา สวัสดี  เข้ายื่นคำร้องต่อกกต.เพื่อให้วินิจฉัย และมีหนังสือไปยังพรรคประชาชนให้ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม หรือคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือส.ส. แม้ว่าเมื่อวานนายพริษฐ์  วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน จะระบุว่าได้ถอนเรื่องจริยธรรมออกแล้ว แต่อยากฝากถึงพรรคประชาชนว่าไม่เฉพาะเรื่องจริยธรรม แต่ขอให้ถอนเรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะตนไม่อยากร้องอัยการสูงสุด หรือกกต.เพื่อผ่านเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยยุบพรรค ตนอยากเห็นพรรคประชาชนมีสส. เพราะยังเห็นประโยชน์ในการที่พรรคจะทำงานเป็นฝ่ายค้าน
 
“แต่วันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา พรรคประชาชนกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 74  หรือการแก้ไขเรื่องจริยธรรม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่การยุบพรรคได้“

นายสนธิญา ยังกล่าวว่า ตนจะไม่มีการร้องหรือยื่นเอาผิดกับ สส.ของพรรคเพื่อไทยที่มีการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะถือว่าเราขอกันกินมากกว่านี้ และเมื่อมีการถอยแล้วก็อยากให้ทำงานต่อไป แต่ในส่วนของพรรคประชาชนยังไม่ได้มีการถอนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่ถอนเป็นเพียงบางมาตราเท่านั้น  จึงขอวิงวอนไปยังพรรคประชาชนในฐานะที่ตนก็เป็นคนหนึ่งในการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และสนับสนุนเรื่องจริยธรรม คุณธรรม การประพฤติปฎิบัติของผู้ที่ลงสมัครสส. หรือจะเป็นรมต. ว่าขอให้พรรคถอนญัตติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราหรือทั้งหมดออกไปด้วย  ซึ่งถ้ายังคงดื้อดึงก็จะพิจารณาเรื่องการยื่นร้องเรียน ขณะนี้ถือว่าให้เกียรติในการที่จะถอนเรื่องออกก่อน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลถอนแล้ว พรรคประชาชนก็ควรถอน

“ผมต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 225 และมาตรา 226 การมีส.ส.ร. ทำประชามติให้ประชาชนได้ลงมติ ซึ่งผลออกมาอย่างไรตนจะไม่คัดค้านแม้แต่ประเด็นเดียว  แต่วันนี้คุณจะยื่นแก้รายมาตราให้ไม่ต้องทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญนั้น เข้าใจว่าจะกลายเป็นปัญหาของประเทศทำให้เกิดความวุ่นวายและผมถูกละเมิดสิทธิจากการที่ผมเป็นผู้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 “

นายสนธิญา ยังเห็นว่า กกต.มีอำนาจจะขอให้พรรคประชาชนถอนญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ โดยกกต. สามารถที่จะออกมาแถลงหรือบอกว่าการกระทำบางอย่างสุ่มเสี่ยงที่จะถูกร้อง ซึ่งตนก็ไม่อยากจะร้องพรรคประชาชนแล้ว อยากให้เขาได้ทำงาน แต่ถ้ายังยืนยันเหมือนเดิม และส่งร่างกฎหมายนี้ค้างเอาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร ตนก็อาจต้องร้องต่ออัยการสูงสุดให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป