“อดีตบิ๊กขุนคลัง”ชำแหละปมแจกเงินหมื่น ไร้ตรวจสอบคุณสมบัติคนถือบัตรซ้ำ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่าไม่ตรวจสอบคุณสมบัติคนถือบัตร

วันแรกๆ ที่มีการโอนเงินจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (ที่เปลี่ยนไปเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะเพื่อไม่ให้ผิดกฎหมายเลือกตั้ง) คนที่รับเงินมีความดีใจหลายแบบ

ผมเองยินดีด้วยกับประชาชนที่ได้รับเงิน เพราะสำหรับหลายครอบครัวนั้น เงินจำนวน 10,000 บาทต่อคนมีความหมายมาก

อย่างไรก็ดี มีความเสี่ยงที่รัฐบาลควรจะต้องคำนึงและบริหารให้ถูกต้อง

1 ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำ

รัฐบาลก่อนหน้าได้เปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้สิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป โดยกำหนดคุณสมบัติไว้ดังนี้

1. สัญชาติไทย

2. อายุ 18 ปีขึ้นไป

3. รายได้ต่อปีของบุคคลและรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี รวมถึงทรัพย์สินทางการเงิน อย่าง เงินฝาก สลาก พันธบัตร และตราสารหนี้ของภาครัฐ ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปีด้วยเช่นเดียวกัน

4. ไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้บ้าน ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้รถไม่เกิน 1 ล้านบาท

5. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

6. กรณีไม่มีครอบครัว ห้องชุดต้องไม่เกิน 35 ตร.ม. และที่ดินที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรไม่เกิน 1 ไร่ และใช้ในการเกษตร ไม่เกิน 10 ไร่ และมีบ้านพร้อมที่ดิน บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ไม่เกิน 25 ตร.ว. และรวมกันหมดแล้วพื้นที่การเกษตรไม่เกิน 10 ไร่

เวลาผ่านมาถึงวันนี้ 1.5 ปี สถานภาพของหลายคนเปลี่ยนไป ในวันนี้ รายได้ หรือวงเงินกู้ หรือขนาดทรัพย์สิน อาจจะสูงกว่าหลักเกณฑ์

มีข้อมูลส่งกันใน today.line.me มีกรณีหนึ่งที่ผู้รับฐานะดีถึงขั้นที่จะใช้เงินนี้ซื้อตั๋วคอนเสิร์ต มีอีกกรณีหนึ่งที่ผู้รับมีรายได้สูงกว่าหลักเกณฑ์เพราะได้เข้าทำงาน

ถามว่า กระทรวงการคลังได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติซ้ำก่อนการจ่ายเงินหรือไม่

2 การปฏิบัติตามกฏหมายเลือกตั้ง

เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสด โดยไม่มีบล็อกเชนควบคุม จึงไม่สามารถบังคับการใช้จ่ายให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยกำหนดไว้เดิมได้ รวมทั้งไม่มีผลดีในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลแม้แต่น้อย

ถามว่า พรรคเพื่อไทยได้คำยืนยันจาก กกต. หรือยังว่า การจ่ายเป็นเงินสดเข้าข่ายเป็น "สัญญาว่าจะให้" หรือไม่

3 การปฏิบัติตามกฎหมายวินัยการเงินฯ

เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินสด โดยไม่มีบล็อกเชนควบคุม จึงอาจมีการรั่วไหลไปเล่นพนัน หรือซื้อสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าสูง ซึ่งจะทำให้ผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศลดลง

นอกจากนี้ ถึงแม้การจ่ายเงินดังกล่าว ใช้เงินจากระบบงบประมาณ แต่เนื่องจากเป็นการโยกโครงการงบประมาณอื่นมาใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมิได้มีการปรับลดหรือยกเลิกโครงการงบประมาณอื่นดังกล่าว ในอนาคตเมื่อต้องทำโครงการงบประมาณเดิมที่ถูกชะลอไว้ รัฐบาลก็จะต้องกู้หนี้สาธารณะเพิ่มเพื่อมาชดเชยขาดดุลงบประมาณ

ดังนั้น จึงมีผลเป็นการใช้เงินจากการกู้หนี้สาธารณะเพิ่มโดยปริยาย เพียงแต่ใช้ทางอ้อม

ถามว่า เนื่องจากโครงการนี้มีผลทำให้ประเทศมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยอ้อมมากถึง 1.4 แสนล้านบาทซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ฐานะการคลังอย่างหนัก กระทรวงการคลังยืนยันว่าการจ่ายเป็นเงินสดมีความคุ้มค่า หรือไม่อย่างไร

ผมขอแนะนำให้รัฐบาลแถลงประเด็นเหล่านี้ต่อสาธารณะ