ศุลกากรปราบเข้ม 9 วัน ตรวจยึดบุหรี่เถื่อน-บุหรี่ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 86 ล้าน
วันนี้ (27 กันยายน 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่ามีการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และแพร่หลาย โดยมีการปรับรูปลักษณ์ให้น่าสนใจพร้อมดัดแปลงกลิ่น รวมถึงเพิ่มยาเสพติดบางชนิดไปด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก เยาวชน และประชาชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าว โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขันในการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิด ด้วยการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าและผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ส่วนควบอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสืบสวนหาข่าวลักลอบการนำเข้า
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมากรมศุลกากรมิได้นิ่งนอนใจ จากกรณีที่มีการจำหน่ายบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ และตระหนักถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าต่อสังคมและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยกรมศุลกากรได้ทำงานอย่างหนัก เฝ้าระวังพร้อมหาข่าวและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหยุดขบวนการลักลอบนำเข้าบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จนสามารถทำการตรวจสอบตู้สินค้าที่มีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจากต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2567 – ปัจจุบัน กรมศุลกากรมีผลการจับกุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปรามร่วมกับสำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ได้รับการข่าวว่าจะมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า จึงได้ทำการอายัดตู้สินค้าดังกล่าวไว้และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันเปิดตู้เพื่อตรวจสอบสินค้า โดยผลการตรวจสอบพบ บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า จำนวนกว่า 500,000 ชิ้น มูลค่า 45 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 และ 244 ประกอบมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 และด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ได้ออกปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร โดยตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่อำเภอแว้ง และอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พบ บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 550,200 มวน มูลค่า 8,000,000 บาท ซึ่งเป็นบุหรี่ต่างประเทศมิได้ปิดอากรแสตมป์และไม่ปรากฎหลักฐานในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 245 246 และ 247 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรระนอง ได้ขอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นร้านค้าในชุมชนเมืองระนอง เนื่องจากได้รับการข่าว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า พบ บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง 10 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 60 ชิ้น มูลค่า 10,000 บาท โดยไม่พบหลักฐานในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 244 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและในวันเดียวกัน กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจสอบสินค้านำเข้าโดยมีประเทศกำเนิด CHINA สําแดงสินค้า 14 รายการ จำนวน 533 CARTONS น้ำหนัก 9,445 KGM ผลการตรวจสอบ พบบุหรี่ไฟฟ้า M ZERO จำนวน 41,940 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้า KARDINAL QUIK 6000 จำนวน 18,000 ชิ้น จำนวนรวม 59,940 ชิ้น มูลค่า 13 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 244 ประกอบมาตรา 252 และมาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจสอบสินค้า โดยมีประเทศกำเนิด CHINA สําแดงสินค้า 19 รายการ จำนวน 591 CARTONS น้ำหนัก 9,567 KGM ผลการตรวจสอบ พบบุหรี่ไฟฟ้า M ZERO จำนวน 27,000 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้า INFY จำนวน 44,000 ชิ้น จำนวนรวม 71,000 ชิ้น มูลค่า 20 ล้านบาท กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 202 244 ประกอบมาตรา 252 และมาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาทำอันตรายต่อสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทย สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 25 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมบุหรี่ 1,930 คดี ปริมาณ 36,615,157 มวน มูลค่า 198.92 ล้านบาท บุหรี่ไฟฟ้า 391 คดี ปริมาณ 1,371,540 ชิ้น มูลค่า 142.63 ล้านบาท