ความฝันที่จะได้เห็นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2467 มีอันต้องเลื่อนไปก่อน เนื่องจากมีปัญหาในการเจรจาของคณะกรรมการไตรภาคีที่ล่มถึง 2 ครั้ง จากเหตุผลที่ไม่สามารถตกลงกันได้ถึงตัวเลขของค่าแรงในแต่ละพื้นที่ ที่ไม่ควรได้เท่ากัน!!!

เพราะจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี บอกว่า นโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาท เกิดการสะดุดและขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ ส่วนจะสามารถทำได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอนหรือไม่ ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และในปี 2567 ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 330-400 บาท ตัวเลขการจ้างงานเมื่อเดือน เม.ย.2567 เฉพาะเขตกรุงเทพฯ, นครปฐม, นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย วันละ 330-370 บาท และได้มีการนำร่องปรับขึ้นค่าแรงใน 10 จังหวัดท่องเที่ยวไปแล้วก็ตาม

ส่วนเหตุผล คือ ความเห็นต่างระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง โดยฝ่ายนายจ้างเห็นว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจริง เกรงจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่ฝั่งลูกจ้างมองว่า ค่าแรงยังไม่ได้ขยับขึ้นก็จริง แต่ปัจจุบันค่าครองชีพได้ปรับขึ้นไปรอล่วงหน้า สวนทางกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับคนงานที่รับค่าจ้างแรงขั้นต่ำ

            เช่นเดียวกับ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ต้องขออภัย ที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาไว้ได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ตุลาคมนี้ได้ ซึ่งตนยืนยันว่าจะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถึงแม้ว่ารัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะไม่ได้ประกาศเป็นนโยบาย เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างก็จะทำให้แรงงานมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

“ไม่อยากกดค่าจ้างให้ต่ำเกินไป ในขณะที่ค่าครองชีพกำลังพุ่งสูง ซึ่งเป็นเวลา 12 ปีแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ค่าจ้างก็ยังขึ้นไม่ถึง 100 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 8 บาท

ขณะที่ด้านผู้ใช้แรงงาน “นายสาวิตต์ แก้วหวาน” ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า มุมของลูกจ้างการปรับขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท อยู่บนเงื่อนไขหลักการในสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริง ปัจจุบัน ราคาสินค้าได้ปรับตัวสูง หากกำลังซื้อไม่มี ด้วยเหตุรายได้หรือรายรับไม่พอ ถามว่า รัฐบาลจะไปฟื้นฟูและพัฒนาประเทศอย่างไร หากประชาชนไม่มีรายได้ เป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่การส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศก็ลำบาก เนื่องจากสถานการณ์โลกก็มีปัญหา ทั้งสงครามเศรษฐกิจและการสู้รบ การแก้ไขก็ต้องเพิ่มรายได้ให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม คือ การเพิ่มค่าจ้างการจ้างงาน อีกทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้ปรับขึ้นไปรอล่วงหน้าหมดแล้ว การขึ้นค่าแรง เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ในระยะยาว ซึ่งจะมีผลทางจิตวิทยาด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นด้วย ตอนนี้ คนเล็ก คนน้อย SMEs อยู่กันไม่ได้ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด มาเจอปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วม อุทกภัย จะทำอย่างไร หากไม่มีการจ้างงาน

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงอาจจะมีผลทำให้ผู้ประกอบการแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว และอาจทำให้ปิดโรงงาน หรือกิจการที่ทำอยู่ หรือย้ายฐานการผลิตไปอยู่ที่อื่น เช่น เวียดนาม กัมพูชา หรือลาวที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า ประเด็นดังกล่าว นายสาวิตต์ บอกว่า ถกเถียงกันมานานแล้ว และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งในข้อเท็จจริง เคยหารือกับฝั่งผู้ประกอบการ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SMEs บอกให้ สสรท.มาช่วยกัน เรียกร้องรัฐบาลให้ปรับลดราคาพลังงานให้ถูกลง ก็จะได้กันทั้งหมด

ดังนั้นนายจ้างต้องใจกว้างและมองผลรวมทางเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า โดยเอาความจริงเป็นตัวตั้ง ไม่ต้องใช้สูตรคณิตศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ใด ๆ เลย เอาแค่หลักคิดของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ก็เห็นภาพกันอยู่ เราต้องจ่ายค่าเดินทางในแต่ละวันเท่าไหร่ ค่ารถ ตั้งแต่ออกจากปากซอยบ้าน ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าแรงวันละ 400 บาท แบบไม่ต้องเลี้ยงดูใคร แค่เลี้ยงดูปากท้องตัวเองคนเดียว ก็แทบไม่รอดแล้ว

ส่วน “นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาททั่วประเทศนั้น จากข้อมูลที่ได้สอบถามผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงในอัตราดังกล่าว โดยเห็นว่าควรเริ่มปรับขึ้นในปี 68 เนื่องจากปกติแล้วการปรับขึ้นค่าแรงจะทำกันปีละครั้ง ในขณะที่ปีนี้ปรับไปแล้ว 2 ครั้งโดยหอการค้าไทยสนับสนุนการปรับขึ้นค่าแรงที่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ดีขอให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าแรงอย่างรอบคอบ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศขณะนี้ ผู้ประกอบการยังเผชิญกับปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันและปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่หนักพออยู่แล้ว

“อยากฝากถึงรัฐบาล นโยบายค่าแรงขอให้ดูให้ดี เพราะสถานการณ์ตอนนี้ทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยเอง กำลังเจอปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน เรื่องค่าเงิน หากจะปรับขึ้นค่าแรงอีก เราจะประสบปัญหามาก

ค่าแรงขั้นต่ำในอนาคตจะเป็นอย่างไร!?!

จะเห็นค่าแรงวันละ 400 บาท ทั่วประเทศหรือไม่!?!

ผู้ใช้แรงงานรอลุ้นกันต่อไป!!!