วันที่ 27 ก.ย.2567 เวลา 10.45 น.ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคการเมืองยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้เหลือกี่ฉบับเพราะมีการถอนร่างออกไปแล้วว่า เดิมมีร่างของพรรคประชาชน 3 ฉบับ แต่ตอนหลังก็ไม่ทราบชัดเจนว่าพรรคเพื่อไทยจะส่งอีกฉบับหรือ 2-3 ฉบับแต่ตอนนี้ก็ชะลอบางมาตราจึงต้องรอดูตอนสุดท้าย ส่วนของพรรคประชาชนส่งมาเป็นการแก้รายมาตรา ไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

เมื่อถามถึงการบรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา นายวันนอร์ กล่าวว่า ถ้าของพรรคเพื่อไทยและ พรรคประชาชน หรือพรรคการเมืองอื่นครบถ้วนแล้วก็จะบรรจุเพิ่มเติม ถ้าเรื่องเหมือนกันก็จะพิจารณาพร้อมกัน แต่ถ้าบรรจุไปแล้วว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ต้องพิจารณา เดิมกำหนดไว้กลางเดือนต.ค.เพราะเมื่อส่งแล้วไม่เกิน 15 วันก็ต้องบรรจุแล้วก็ต้องพิจารณาไปตามขั้นตอน ซึ่งวิป 3 ฝ่ายก็ต้องเห็น อย่างไรก็ตามขณะนี้กองการประชุมยังไม่ได้รายงานว่ามีกี่ฉบับ เพราะพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ส่งมา แต่เห็นว่าเลื่อนบางมาตรา และชะลอไว้ก่อน แต่มีของพรรคประชาชน 3 ฉบับ ทั้งนี้ร่างของพรรคประชาชนก็ได้สำรวจความเห็นประชาชนแล้ว แต่ถ้าจะมีการแก้ไขก็ต้องทำประชามติ แต่บางฉบับก็ต้องไม่ต้องทำประจำมติ ถ้าไปแก้อำนาจองค์กรอิสระ หรืออำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องทำประชามติทำที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ส่วนเรื่องจริยธรรมการเมืองไม่รู้ว่าแก้ลักษณะอย่างไร ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระ

เมื่อถามว่าสมาชิกวุฒิสภาแก้กฎหมายประชามติเป็น 2 ชั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องรอให้แก้ไขกฎหมายประชามติให้เสร็จก่อนหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ทำประชามติก็ไม่ต้องรอ ถ้าจะทำประชามติก็ต้องรอ เพราะจะสภาฯแก้จากกฎหมายเดิมที่ประกาศใช้แล้ว แต่กรรมาธิการวุฒิสภาจะแก้อีก แต่เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร ไม่ทราบ แต่ถ้าแก้ไม่ตรงกับที่สส.เสนอไปก็ต้องส่งกลับมาสภาฯ เพื่อตั้งกมธ.ร่วมกัน ส่วนจะออกมาอย่างไร จะทำให้ล่าช้าหรือไม่ อันนี้ไม่ทราบ เพราะขั้นตอนถ้าจะแก้ไขจากร่างเดิมก็ต้องทำกระบวนการใหม่ จะทันสมัยประชุมนี้หรือไม่คาดไม่ได้

เมื่อถามว่ายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะไม่ทันการเลือกตั้งสมัยหน้า นายวันนอร์ กล่าวว่า ไม่สามารถพูดล่วงหน้าได้ ถ้าแก้กฎหมายประชามติแล้ว จะทำช้าหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อร่างเสร็จแล้วมีการแก้ กฎหมายประชามติว่าต้องใช้เสียงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ก็ไม่ได้แน่ใจว่าจะได้ตามนั้นหรือไม่ ที่ร่างมาทั้งหมด ก็ใช้ไม่ได้ก็ต้องนับหนึ่งใหม่ หรือออกมาใช้สิทธิ์ครึ่งหนึ่ง แต่เห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ก็ไม่ใช่เสียงข้างมาก เพิ่มความยุ่งยากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับกฎหมาย เมื่อเห็นตรงกันว่าต้องแก้กฎรัฐธรรมนูญ แต่จะแก้อย่างไร ยังไม่มีข้อยุติ

เมื่อถามว่าตามประสบการณ์คิดว่าหากยังไม่มีความชัดเจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร นายวันนอร์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เพราะประชามติเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่ถามไป และมีการประชาสัมพันธ์ มีการถกเถียงในที่สาธารณะอย่างกว้างขวางหรือไม่ เหมือนกับการเลือกสส.ทุกครั้งคนไปใช้สิทธิ์เกิน 70% ถือว่าใช้ได้ เพราะมีการรณรงค์ เชิญชวน และมีการหาเสียงแต่ละฝ่าย เป็นที่สนใจของประชาชน แต่ประชามติที่จะถามเรื่องอะไรยังไม่เห็น ประชาชนสนใจไหม คุ้มกับที่เขาเสียเวลาไปหรือไม่ ซึ่งในต่างประเทศคนไปใช้สิทธิ์ 20-30% ก็มี แต่กฎหมายไม่เหมือนเรา

เมื่อถามว่าโอกาสที่จะผ่านหรือไม่ นายวันนอร์ กล่าวว่า คาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ไม่รู้ว่าถามเรื่องอะไร และแก้แล้วประชาชนจะผลักดันอย่างไร แต่ถ้าแก้แล้วอาจจะไม่ถูกใจประชาชนก็ไม่ออกมาดีกว่า หรือออกมาไม่เห็นด้วยก็ยังดีอาจจะติดภารกิจ ไม่เห็นความสำคัญ ออกมาก็เสียโอกาส เสียเวลา เสียงบประมาณ เพราะขั้นตอนมันเยอะไม่เหมือนเดิม