ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ดาวเคราะห์ย่อมอวสานไปตามดาวฤกษ์ฉันใด สรรพสิ่งที่เกิดร่วมกันก็ต้องดับไปด้วยกันฉันนั้น

ธงชัยเป็นคนชอบเรียนรู้ โดยเฉพาะ “ซอกมุม” ต่าง ๆ ของคนที่เขาทำงานด้วยดังนั้นเมื่อเขาได้มีโอกาสเดินเข้าออกทำเนียบรัฐบาลบ่อย ๆ เพราะต้องไปประสานงานกับ “ท่าน” คนที่ดึงเขาเข้ามาทำงานในบริษัททนายความใหญ่แห่งใหม่ เขาก็ได้รู้ว่า “ท่าน” เป็นคนขยันมาก ตั้งแต่ที่เข้ามาในฝ่ายกฎหมายของทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่ที่จบเนติบัณฑิตใหม่ ๆ ก็มาทำงานแต่เช้า ก่อน 7 โมงเช้าทุกวัน และกว่าจะกลับบ้านก็หลัง 1 ทุ่มทุกวัน ส่วนหนึ่งเพราะงานกฎหมายที่นี่มีจำนวนมาก อีกทั้ง “ท่าน” ต้องทำงานใกล้ชิดผู้อำนวยการคนหนึ่งที่มีหน้าที่ทำสรุปเรื่องปัญหาข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีก่อนที่จะมีการประชุมในทุกสัปดาห์ “ท่าน” ก็เลยต้องรับภาระงานตรงนั้นอย่างเต็มที่ แต่ด้วยความทุ่มเทนี้จึงทำให้ “ท่าน” ได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จนขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งของผู้อำนวยการคนนี้ในที่สุด

ธงชัยได้รู้อีกว่า ข้าราชการที่มาทำงานที่นี่หลายคนมี “แอมบิชั่น” (โดยทั่วไปแปลว่า “ความทะเยอทะยาน” แต่ในระบบราชการที่เขาได้สัมผัส น่าจะเรียกว่า “ความกระเหี้ยนกระหือรือ” นั้นมากกว่า) ที่รุนแรง ส่วนใหญ่ก็คือ “เด็กนาย” หรือมี “ปลอกคอ” สังกัดผู้ใหญ่ต่าง ๆ ทั้งในฝ่ายเด็กของนักการเมืองและในฝ่ายของข้าราชการผู้ใหญ่ จึงไม่มีใครยอมที่จะลดราวาศอกให้แก่กันเท่าใดนัก แต่คนที่ฉลาดกว่ามักจะเกาะข้าราชการผู้ใหญ่มากกว่า ด้วยความเชื่อที่ว่านักการเมืองเดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป ส่วนข้าราชการนั้นจะอยู่ไปได้เรื่อย ๆ และยิ่งสามารถสร้างฐานอำนาจในองค์กรได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีอำนาจมาก ก็เพราะแม้แต่นักการเมืองก็ยังต้องวิ่งเข้าหา โดยเฉพาะนักการเมืองที่ชอบจ้องหาประโยชน์ แล้วไปทำผิดกฎหมายหรือหมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย ก็มักจะต้องมาพึ่งข้าราชการที่กุมอำนาจ ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในเรื่องข้อกฎหมายและการใช้กฎหมาย ไว้คอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ ดังนั้นข้าราชการในฝ่ายกฎหมายหลายคนจึงเป็นที่เกรงใจ รวมถึงมักจะได้รับการยอมรับนับถือจากนักการเมือง เพราะนักการเมืองต้องพึ่งพิงนักกฎหมายเหล่านี้ในทุก ๆ เรื่องนี่เอง

ธงชัยยังได้ความรู้อีกว่า “นักกฎหมายใหญ่ ๆ” นี่แหละคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริงของประเทศไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ที่จำเป็นต้องพึ่ง “นักกฎหมายใหญ่ ๆ” คือในภาคเอกชนก็ต้องพึ่งนักกฎหมายใหญ่ ๆ ที่มีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่แล้ว ช่วยคลี่คลายปัญหาทางธุรกิจ รวมถึง “ลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไร” ให้กับบริษัทของตน ในขณะเดียวกัน นักการเมืองก็ต้องพึ่งพิง “นักกฎหมายใหญ่ ๆ” เหล่านั้น เพื่อความอยู่รอดของตนเอง และคอยปกป้องคุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัย เมื่อต้องมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองดังกล่าว ไม่เว้นแม้แต่ในยุคที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารที่ขึ้นมามีอำนาจก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมาย จึงมักจะต้องดึงตัว “นักกฎหมายใหญ่ ๆ” เข้ามาร่วมอยู่ในคณะรัฐประหาร เพื่อคอยปกป้องและคอยจัดการเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายให้แก่นายทหารเหล่านั้น ทำให้ “นักกฎหมายใหญ่ ๆ” มักจะได้รับตำแหน่งสำคัญ ๆ หลังการรัฐประหาร เช่น ประธานร่างรัฐธรรมนูญ หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นต้น

หลังการรัฐประหารปี 2534 “ท่าน” ของธงชัยได้รับรางวัลให้ไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งยังได้มีตำแหน่งสำคัญในการดูแลกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ “ท่าน” จึงได้ขอให้ธงชัยเข้ามาช่วยเป็นกรรมการ ในฐานะที่ธงชัยมีความสัมพันธ์กับนักธุรกิจในภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง จนถึงปี 2539 ที่มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ธงชัยก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยคนหนึ่ง ก็ด้วยการผลักดันของ “ท่าน” นั่นเอง (มีเรื่องตลก ๆ เกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาชุดนั้นว่า ถ้ามีอำนาจเสียอย่างจะตั้งใครมาเป็นสมาชิกวุฒิสภาก็ได้ เช่น มีการตั้งคนตัดผมของนายกรัฐมนตรีให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นต้น) ทำให้เขามานึกถึงสิ่งที่ทั้งอาก๋งและเตี่ยได้เคย “พร่ำสอน” ตลอดมาว่า “เกิดเป็นคนไทยต้องมีเจ้านายคุ้มหัว” และที่เขามาตั้งเป็น “ทฤษฎีชีวิต” ที่ว่า “เป็นดาวเคราะห์ต้องโคจรรอบดาวฤกษ์ เพื่อชีวิตที่เจิดจ้าและสว่างไสวไปด้วยกัน”

แม้ว่าจะได้มีตำแหน่ง “สูงส่ง” เป็นถึงสมาชิกวุฒิสภา แต่ธงชัยก็ไม่เผลอใจลืมตัว “มัวเมา” ในอำนาจนั้น เขายังชอบทำตัวเป็น “ผู้น้อย” แม้แต่ในหมู่สมาชิกวุฒิสภาด้วยกัน ไม่ค่อยชอบเสนอหน้าหรือออกข่าวสร้างชื่อเสียง ขณะเดียวกันเขาก็ยังทุ่มเทอาสารับใช้ “ท่าน” อยู่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในเรื่องส่วนตัวและเรื่องการงาน โดยไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งหรือเรียกร้องเอาตำแหน่งต่าง ๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่ใคร ๆ อยากจะ “เข้าหาท่าน” ก็ต้องรู้ว่าติดต่อผ่านเขาจะประสบความสำเร็จด้วยดีเสมอ จนกระทั่งหลาย ๆ คนเรียกเขาว่า “Low Profile, High Profit.” ที่แปลเป็นไทยตรงตัวว่า “ทำตนต่ำ ทำกำไรสูง”

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2543 ก็มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง ธงชัยก็กลับไปทำงานที่บริษัททนายความเหมือนเดิม รวมถึงดูแลกิจการของครอบครัวตัวเองด้วย จนถึงปี 2549 ก็ครบวาระของวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกนั้น ตามมาด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ ซึ่งธงชัยก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด ที่ต่อมาภายหลังเขาก็บอกกับใครต่อใครว่า เขาได้ไปปรึกษา “ท่าน” โดย “ท่าน” บอกว่าอย่าไปลงเลือกตั้งเลย เพราะจะอยู่ได้ไม่นาน ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะในวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็เกิดรัฐประหาร และในเดือนต่อมาเขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยคนหนึ่ง ต่อจากนั้นก็ดูเหมือนชีวิตของเขาจะ “ขาดสภาไม่ได้” เพราะเมื่อมีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาในครั้งใด ก็จะต้องมีชื่อของเขาเป็นหนึ่งในจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดนั้นมาโดยตลอด รวมทั้งสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยก็คือ การใช้ชีวิตแบบ “ทำตนต่ำ ทำกำไรสูง” นั้นอยู่เสมอ

ผมรู้จักกับธงชัยก็ในสมัยที่ผมเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2549 แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่ได้คุยกันในเรื่อง “อัตชีวประวัติ” อย่างลึกซึ้งอย่างที่เล่ามานี้ (โดยประวัติบางเรื่องอาจจะมีการปรับเปลี่ยนหรือเสริมแต่งบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบถึงชีวิตของเจ้าตัวและคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันจำนวนหลายคน) จนกระทั่งได้มาพบเขาในงานพบปะสังสันทน์ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดดังกล่าวที่ยังมีการพบปะกันเป็นระยะ จึงได้พูดคุยกันมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยความสนใจส่วนตัวของผมเองที่เห็นว่า “ทำไม” เขาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภามาทุกยุคทุกสมัย จึง “แอบ” สอบถามพูดคุยเอาจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในบางส่วน จึงได้ทราบว่าเป็นเพราะเขามี “ทฤษฎีดาวฤกษ์ดาวเคราะห์” ดังกล่าว

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผมมีความเห็นว่า ชีวิตของ “ธงชัย” ฉายให้เห็นถึง “ภาพจริงของสังคมไทย” ได้อย่างชัดเจน ในเรื่อง “สังคมแห่งผู้ใหญ่ผู้น้อย” ที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งในอดีตเราเป็นสังคมแบบ “ศักดินาโบราณ” คือมีระบบ “ข้า - เจ้า - บ่าว - นาย” ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยจะพัฒนาไปในหลาย ๆ ด้านเป็นอย่างมาก แต่ระบบพึ่งพิง(ที่บางทีก็เรียกว่า “ระบบอุปถัมภ์”)นี้ก็ยังไม่หมดไป อีกทั้งยังฝังแน่นอยู่ในความเชื่อความคิดของคนหลาย ๆ คน ซึ่งก็มี “ธงชัย” นี้เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้นด้วย โดยเราอาจจะเรียกความเชื่อและความสัมพันธ์แบบนี้ว่า “ศักดินาใหม่” หรือระบบ “คุณ - ท่าน - ฉัน - เธอ” แม้จะอยู่ในสังคมที่เปลือกนอกเป็นประชาธิปไตย ส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริง ๆ หลาย ๆ ส่วน เราก็ยังต้องพึ่งพิง “คนใหญ่ – คนโต - ผู้มีอำนาจ - ผู้นำ” อยู่นั่นเอง

บางทีทฤษฎีทางรัฐศาสตร์ก็ไม่สามารถจะอธิบายอะไรได้ชัดเจน แต่ถ้ามองด้วยฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เช่น ทฤษฎีดาวฤกษ์ดาวเคราะห์นี้ ก็อาจจะทำให้เรามองสังคมได้ทะลุปรุโปร่งยิ่งขึ้น