ระทึกกลางดึก! กู้ภัยฝ่าน้ำเชี่ยวเข้าช่วย 2 หนุ่มอุดรฯขับรถ จยย.ฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวซัดติดต้นไม้ รอดหวุดหวิด คาดอุดรฯจมน้ำยาวเป็นเดือน ภูมิธรรม ยันเงินเยียวยาก้อนแรก ครอบครัวละ 5 พันบาท ได้ภายใน 5 วัน  ส่วน มท.1 เตรียมเสนอ ครม.1 ต.ค.นี้ ชงปรับเกณฑ์เยียวยาน้ำท่วมให้ได้มากขึ้น 
       
       
 เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุดรธานี หลังจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ปล่อยน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่บ้านหนองบึงมอ ต.เชียงเพ็ง อ.กุดจับ และ ต.เชียงยืน อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ได้เกิดน้ำท่วมในหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงกลางดึก ได้เกิดเหตุการณ์ในพื้นที่บ้านหนองหลอด ไปทางบ้านบ่อน้อย ต.เชียงยืน อ.เมืองอุดรธานี โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องเร่งช่วยเหลือ 2 หนุ่มน้อยวัยรุ่น หลังขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าสายน้ำเชี่ยว จนถูกกระแสน้ำพัด ทั้งคนและรถไปตามสายน้ำ ไปติดเกาะกับต้นไม้ รอดตายหวุดหวิด
        
 ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม หลังจากลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ว่า นายกฯได้มีการเร่งรัดและสั่งการให้กระทรวงการคลัง โอนงบกลางที่จะไปช่วยเหลือประชาชนเป็นรายครัวเรือน โดยกระทรวงมหาดไทยได้เร่งสำรวจตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อที่จะนำรายชื่อของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาก้อนนี้ ทยอยโอนเข้าบัญชี ทั้งนี้ ในส่วนการเยียวยานั้น นายกฯอยากให้ใช้มาตรฐานสูงสุด แต่เราต้องดูด้วยว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่ โดยตามเกณฑ์จะมีการจ่าย 5,000 บาท 7,000 บาท และ 9,000 บาทต่อครัวเรือน แต่ในความเป็นจริงแม้จะจ่าย 9 พันบาท แต่ไม่มีทางพอ ซึ่งต้องมาดูว่าหากจะปรับเปลี่ยนเกณฑ์ช่วยเหลือประชาชนให้จ่ายมากขึ้นนั้น จะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ โดยจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 1 ต.ค.
       
  ที่ห้องประชุม 108 ชั้น 1 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงผลการประชุม คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัย วาตภัย และ ดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 2 ว่า ทุกหน่วยราชการมีความพร้อมในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่อุทกภัยครั้งนี้ทิ้งโคลนไว้ อย่างที่จังหวัดเชียงรายก็กำลังวางแผนบูรณาการ ส่วนเรื่องอาหารสด และปัญหาถุงยังชีพมีมากพอ ตอนนี้ต้องการสิ่งที่จะฟื้นฟูจัดการเรื่องโคลน ซึ่งต้องใช้รถดูดโคลน รถน้ำ เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และกำลังคน ซึ่งได้ประสานงานกับหน่วยต่างๆให้เคลียร์ถนนใหญ่ให้เสร็จก่อน แล้วค่อยเข้าซอยต่างๆ เพื่อไปช่วยชาวบ้าน โดยมีการมอบหมายแต่กระทรวงรับผิดชอบแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน สำหรับการเข้าฟื้นฟูบ้านเรือน บ้านหลังหนึ่งมีโคลน 1-2 เมตร ใช้กำลังพลประมาณ 30 คน ในการดำเนินการ ซึ่งตอนนี้มีอาสาสมัครจาก ปภ. กองอาสารักษาดินแดน (อส.) ทหาร และนักโทษชั้นดีจากกรมราชทัณฑ์และมูลนิธิเอกชน เข้ามาช่วย แต่อยากได้เครื่องมือ เช่น จอบ เสียม เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง รถแบ็คโฮ รถคูโบต้า เพราะโคลนเหล่านี้หากอยู่ตามท่อ และในบ้าน ทิ้งไว้นานจะเป็นหินปูนได้ อยากให้ทุกฝ่ายจดบันทึกเป็นบทเรียน เพราะเรายังต้องเผชิญกับภาวะแบบนี้อีก จึงต้องเตรียมหาอุปกรณ์ต่างๆ รองรับ ซึ่งหลังจากนี้ก็คงจะมีการพูดต่อไป 
        
 นายภูมิธรรม กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.ย. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และ รองนายกฯ ที่เกี่ยวข้อง จะลงพื้นที่เชียงราย และค้างคืน เพื่อรับทราบสถานการณ์และแก้ปัญหาในพื้นที่ ส่วนวันที่ 28 ก.ย. นายกฯ จะเดินทางต่อไปที่ จ.เชียงใหม่ ขณะที่รองนายกฯคนอื่น จะกระจายลงพื้นที่ โดยตนและนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจษฐกิจและสังคม จะเดินทางไปที่ จ.ลำปาง เพื่อดูเขื่อนที่ตอนนี้ระดับน้ำอยู่ในภาวะวิกฤต
        
 นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนระบบเตือนภัย ตอนนี้สามารถเตือนภัยผ่าน SMS ทางโทรศัพท์ถึงประชาชนได้โดยตรง นอกจากนี้ที่ประชุม ศปช. แต่งตั้ง นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นที่ปรึกษา ศปช. เนื่องจากต้องใช้ความรู้ทางเทคนิค และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษก ศปช. เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร
        
 นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยา หลังนายกฯ ลงพื้นที่ในวันที่ 27 ก.ย.  จะสั่งการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเงิน 3,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ได้โอนไปที่ ปภ. แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบการใช้เงิน ซึ่งจะลดขั้นตอนจาก 30 วัน ให้เหลือ 5 วัน โดยเงินก้อนแรกจะจ่ายให้ครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งผู้ว่าฯ สามารถจ้ายได้เลย เพราะมีงบจังหวัดละ 200 ล้านบาทอยู่แล้ว เบื้องต้นพยายามจะจ่ายให้ทั่วถึงก่อน จากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเติม