แม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรมทางการท่องเที่ยว การพัฒนาโฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ ที่บ้านรวมไทย หรือปางอุ๋ง แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดแม่ฮ่องสอนภายใต้โครงการพัฒนา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนกิจกรรม การพัฒนาโฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ บนเส้นทางการท่องเที่ยว 21 จุด ของสายต่อนยอนต้องมาเช็คอินจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567  นายชูชีพ พงษ์ไชย  ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิด โครงการพัฒนา ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอนกิจกรรม การพัฒนาโฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ บนเส้นทางการท่องเที่ยว 21 จุด ของสายต่อนยอนต้องมาเช็คอินจังหวัดแม่ฮ่องสอน  โดยมี นายกรวิทย์ ช่วยดู ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ว่าที่ ร้อยตรี ภานุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน พ.ต.ท.สุวิทย์ บุญยะเพ็ญ สว.สทท.4 กก.2 บก.ทท.2(แม่ฮ่องสอน) และนาย ภานุเดช ไชยสกูล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมกิจกรรม  ณ อาคารทรงงาน โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 


       
ทั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพในเชิงนิเวศ วิถีวัฒนธรรม แก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคน สังคม บนฐานวัฒนธรรม เกิดกระจายรายได้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ให้เกิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชน เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน


       
นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า โครงการพัฒนา ฟื้นฟู แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโอกาสอันดี ที่ชุมชนบ้านรวมไทยจะได้ร่วมกันวางแผนรองรับการพัฒนา  และป้องกันผลกระทบทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการพัฒนาและหาโอกาสที่จะให้ชุมชนได้เรียนรู้จากปัญหา ทางแก้ไขปัญหา และความสำเร็จ ของรูปแบบการบริหารจัดการของชุมชนอื่นๆ อยู่เสมอ เพื่อการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ในขณะที่เราพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปนั้น ชุมชนอื่นๆ ทั้งใกล้และไกล ต่างก็พากันหาหนทางในการพัฒนาตนเองเช่นกัน โดยการอนุรักษ์เพื่อหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชน ในรูปแบบของแหล่งหาอาหาร แหล่งการเรียนรู้ แหล่งสืบสานประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ และแหล่งหารายได้จากการท่องเที่ยว จึงต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หรือชุมชนอื่นๆ ที่มีลักษณะบางอย่างใกล้เคียงกันมาร่วมกันคิดเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทักษะ การเรียนรู้ระหว่างกัน ขยายโอกาส ประสบการณ์ การเรียนรู้ให้กว้างขวาง สร้างความเข้าใจ รวมถึงการมีข้อตกลงร่วมกันในรูปแบบต่างๆ หรือเรียกว่าการสร้างเครือข่าย และผู้เข้าร่วมสร้างความเข้าใจกับชุมชน นำความรู้ที่ได้ ไปปฏิบัติการจัดการดูแลและพัฒนาตนเองตามศักยภาพเพื่อสร้างฐานความเข้มแข็งให้กับชุมชนของตนด้วยกำลังของชุมชนเอง การสร้างเครือข่ายจึงเป็นแนวทางให้ชุมชนต่างๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ เกื้อกูล และคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กันและกัน