วันที่ 26 ก.ย.2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2567 โดยมี นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทน สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง และผ่านระบบออนไลน์
ที่ประชุมได้แจ้งเพื่อทราบถึงประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2567 และ ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพมหานครดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2567 โดยได้แจ้งให้ทราบถึงสาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากประกาศฉบับเดิม โดยมติที่ประชุมรับทราบและให้สำนักอนามัยทำหนังสือถึง สปสช. ในบางเรื่องที่ติดขัด อาทิ การสมทบเงินใน Long Term Care หรือระบบดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (LTC) รวมทั้งขอให้ สปสช. เร่งรัดประสานผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำแนวทางการดำเนินงานจัดรถรับส่งหรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อถือปฏิบัติในพื้นที่กรุงเทพฯ
จากนั้นได้รายงานผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการกำกับ ติดตามและประเมินผลแผนงานหรือโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1. สนับสนุนการดำเนินงานแบบเสริมพลัง และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียบรู้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีกิจกรรมเยี่ยมเสริมพลัง ร่วมกับ สำนักงานตรวจสอบภายใน กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งสิ้น 46 เขต 2. กำกับ ติดตาม รับทราบผลการสนับสนุนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครในระดับเขต โดยมีการอนุมัติโครงการ จำนวน 2,009 โครงการ จบประมาณที่อนุมัติ 259,417,561.33 บาท คิดเป็นร้อยละ 75.64 (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กันยายน 2567) 3. พัฒนาเครื่องมือสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เงินกองทุน เครื่องมือเพื่อความเชื่อมั่นการเสนอโครงการ ร่วมกับสำนักงานตรวจสอบภายใน ทั้งนี้ สามารถแบ่งโครงการตามประเภทกิจกรรมออกเป็น การสร้างเสริมสุขภาพ จำนวน 1,274 โครงการ การป้องกันโรค 506 โครงการ การสนับสนุนผ้าอ้อม 227 โครงการ การฟื้นฟูสมรรถภาพ 2 โครงการ
ภายหลังรับฟังรายงานผลการดำเนินงานฯ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงเป้าหมายที่จะพัฒนากลไกระบบ Traffy Fondue ให้พร้อมรองรับการที่ประชาชนทุกคนจะกดบันทึกผู้ป่วยติดเตียงเข้ามาเพื่อรับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ซึ่งสามารถนำไปใช้กับกรณีคนพิการได้ด้วย โดยหากทำได้จะทำให้เรามีข้อมูลที่ชัดเจนว่าจำนวนกลุ่มเปราะบางกี่ราย พักอาศัยอยู่ที่ใด หน่วยงานต้องจัดเตรียมทรัพยากรในการรองรับกลุ่มเปราะบางมากเท่าไร
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ อาทิ รายงานการรับ - จ่ายเงิน และเงินคงเหลือประจำไตรมาส 3/2567 (เมษายน - มิถุนายน 2567) ของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร (ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง) สรุปผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3/2567 (เมษายน - มิถุนายน 2567) ของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร และกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร (ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง) เป็นต้น โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการและมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในบางประเด็น พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติที่ประชุมได้โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม