เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส , คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , บริษัท บี อเมซซิ่ง เอ็ดดูเทนเม้นท์ จำกัด และ Goethe Institute   จัดงาน "เวทีเยาวชนเยาวโชว์ 2024" ตอน “มิตรภาพในความหลากหลาย” (Friendship in Diversity)  เพื่อเปิดเวทีให้น้องๆ เยาวชน ได้เกิดการเรียนรู้ในความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์ ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความคิดด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง จากการที่ได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันเรื่องราวๆ ต่างๆ ซึ่งกันและกัน

อีกทั้งความพิเศษของงานครั้งนี้ยังเป็นการ Showcase ผลงานของน้องๆ เยาวชน จำนวน 11 ผลงาน ที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือก จากการประกวด Video Content ในงาน "Southeast Video Festival for Children Thailand" โดยมี โครงการ SEAVFC Thailand เป็นผู้จัดการประกวด ซึ่ง 11 ผลงานดังกล่าว ก็ได้ถูกคัดเลือกเหลือเพียง 4 ผลงาน ได้แก่ เรื่อง เพื่อนของฉัน , มิตรภาพไร้พรมแดน , มิตรภาพไร้เสียง , มายา  โดยเนื้อหาของ VDO นั้น สร้างสรรค์ออกมาตามคอนเซปต์ “มิตรภาพในความหลากหลาย" ที่จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมประกวดกับอีก 9 ประเทศอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ภายในงานยังจัดกิจกรรม "แตกต่างอย่างสร้างสรรค์และเป็นสุข" เพื่อให้น้องๆ เยาวชนที่มาร่วมงาน เข้าใจถึงคำว่า "มิตรภาพในความหลากหลาย" โดยได้แบ่งกลุ่มผู้ชมออกเป็นแต่ละช่วงวัย ได้แก่ ระดับเด็กเล็ก ประถม มัธยม และแบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็น 3 รอบ ในรอบที่ 1 นั้นเป็นของน้องๆ อายุไม่เกิน 7 ปี ที่ได้ทำกิจกรรมชื่อว่า "ปลาเล็กกินปลาใหญ่" เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ว่าความแตกต่างเมื่อมารวมตัวกันแล้วจะเกิดพลังอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถทำให้เราทำสิ่งใหญ่ๆ ได้สำเร็จ  ที่สำคัญน้องๆ ได้เกิดการเรียนรู้ความแต่งต่างจากการได้รับชมคลิป VDO ในเรื่อง "มิตรภาพไร้พรมแดน" , "ใบไม้สร้างสรรค์" และ รายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย  

สำหรับรอบที่ 2 คือกลุ่มน้องๆ อายุ 8-12 ปี ที่ได้ทำกิจกรรมชื่อว่า  "เชื่อมั้ย!? ไม่มีใครเหมือนกันเด๊ะ" ให้ได้เรียนรู้ถึงความงามที่มีความแตกต่างหลากหลาย ให้รู้จักชื่นชมตัวเองและชื่นชมผู้อื่น ยอมรับซึ่งความแตกต่างของกันและกันอย่างภูมิใจและจริงใจ  ต่อด้วยการร่วมรับชม คลิป VDO เรื่อง รอยยิ้ม (ซั้วลั่ว) , ไม่มีข้อจำกัดของคำว่าเพื่อน , ความเท่าเทียม , ความแตกต่างที่ลงตัว , หัวใจแห่งมิตรภาพ  และในส่วนของน้องๆ กลุ่มอายุ 13-17 ปี  ในรอบที่ 3 นั้น ได้ทำกิจกรรม "ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ " เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ ถึงแม้จะแตกต่างกันแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสร้างสรรค์ จากนั้นก็ร่วมกันรับชม VDO เรื่อง เพื่อนของฉัน , มิตรภาพไร้พรมแดน , มิตรภาพไร้เสียง และ มายา โดยไฮไลท์ของกิจกรรมในแต่ละรอบนั้น ต้องการให้เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมทุกคนได้มีส่วนร่วมในการให้กำลังใจเพื่อนๆ ที่ผลิตผลงาน VDO ด้วยการแปะสติ๊กเกอร์หัวใจพร้อมข้อความที่อยากบอก เพื่อเป็นการส่งมอบพลังงานดีๆ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน  อันถือว่าเป็นเวทีแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจ และสามารถนำไปต่อยอดทำในสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสร้างสรรค์และเห็นคุณค่าในความเป็นตัวเอง    และปิดท้ายงานด้วยการแสดง ของน้องๆ จากโรงเรียนบ้านสันติสุข อำเภอปง จังหวัดพะเยา ที่มาในชุดชนเผ่าแบบจัดเต็ม สร้างความประทับใจให้แก่เพื่อนๆ ที่มาร่วมงาน  กับการแสดงที่ชื่อว่า "เก้ง ม้ง ยอ เป๊ ลู๊ เน่ง"  ที่สะกดสายตาของเพื่อนๆ ให้เพลิดเพลินไปกับการแสดงที่หาชมได้ยาก  

ทั้งนี้ "เข็มพร วิรุณราพันธ์" ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เราต้องการเปิดเวทีให้กับเยาวชนโดยเฉพาะ ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นเวทีการประกวดเป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่  สสย. โดยการสนับสนุนจาก สสส. ที่ร่วมกันทำงานด้านสื่อเด็กและเยาวชนมาตลอด  ได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออกถึงความสามารถและศักยภาพที่มีในตัว จึงได้เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ  ได้เกิดการเรียนรู้  ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดมุมมองกับเพื่อนต่างวัย ต่างพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย  ได้พบปะกันแบบเห็นหน้าค่าตา พูดคุย  ได้สัมผัสถึงน้ำเสียง อารมณ์กันจริงๆ  ไม่ใช่เพียงผ่านสื่อออนไลน์ หรือช่องทางสื่อสารใดๆ  ทำให้ได้เข้าใจกันลึกซึ้ง จะทำให้เกิดมิตรภาพที่แท้จริง

โดยในส่วนของการประกวด VDO Content ครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ครั้งสำคัญมากๆ เรียกได้ว่าเป็นการนำร่องของการเปิดเวทีให้เด็กเป็นงานแรกๆ ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ และดูจากผลงานที่ส่งเข้ามา ก็พบว่า น้องๆ เยาวชน มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์  มีพลังเยอะแยะมากมายในการที่จะสื่อสารสะท้อนแนวคิดออกมา  ฝีมือการผลิตก็ไม่น้อยหน้าผู้ใหญ่เลย  ซึ่งส่วนตัวนั้นคิดว่าถ้าเรามีพื้นที่แบบนี้เยอะๆ  ก็จะเป็นการช่วยกันส่งเสริมให้เขาได้มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี     และสำคัญที่สุดนอกจากการตั้งรางวัลเพื่อเป็นแรงจูงใจ เหนือไปกว่านั้นคือความภาคภูมิใจของเด็กๆ  ที่จะได้ส่งต่อความคิด สะท้อนมุมมองผ่านผลงานที่ได้ส่งเข้ามาร่วมที่ล้วนทำออกมาจากความตั้งใจและทุ่มเท แม้ว่าผลงานหลายชิ้นอาจจะไม่ได้รับการคัดเลือก  เพราะว่าจะมีข้อจำกัดในบางอย่าง  แต่เราเห็นคุณค่าของเยาวชนปรากฎอยู่ในทุกผลงาน