สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งกับเรื่องราวการพักรักษาตัวในระหว่างต้องโทษที่ชั้น 14 ร.พ.ตำรวจของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี …*…

หลังมีการเปิดเผยรายงานฉบับเต็มของคณะกรรรมการสิทธิมนุษยชน โดยบางช่วงบางตอนในบทสรุปรายงานดังกล่าว ระบุไว้ชัดเจนว่า การที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจด้วยอาการวิกฤติ ซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากขณะนั้นโรงพยาบาลให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง แต่หลังจากนั้นปรากฏว่า นายทักษิณยังพักที่ห้องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลชี้แจงว่า นายทักษิณมีภาวะวิกฤติสลับปกติ จึงมีข้อสังเกตว่า หากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติตามที่ชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษที่ตามปกติมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤติและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว …*… 

ขณะที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯแจ้งว่าไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษ เนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่น ๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป …*…  

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการสิทธิฯจึงเห็นว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  และโรงพยาบาลตำรวจซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันในการดูแลสุขภาพและให้การรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่มีอาการป่วย กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวพักโทษ และออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  …*…

และคณะกรรมการสิทธิฯยังได้ย้ำถึงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งด้วยว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์นั้น นายทักษิณสามารถเดินทางออกจากโรงพยาบาลกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรงอันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤติจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ที่เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวในรพ.ตำรวจมาโดยตลอด …*…

“ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงกับต้องรักษาตัวกับโรงพยาบาลตำรวจนานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือกลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และโรงพยาบาลตำรวจเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ที่มุ่งคุ้มครองความเสมอภาคของบุคคล จึงถือว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”ความเห็นจากคณะกรรมการสิทธิฯ …*…

เชื่อว่า ป.ป.ช.น่าจะใช้เวลาไม่นานนักกับการพิจารณารายงานจากคณะกรรมการสิทธิฯ และเมื่อบวกรวมกับข้อมูลที่ได้รับจากพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผบ.ตร.ที่ออกมาเปิดโปงว่าเคยเข้าเยี่ยมนายทักษิณระหว่างพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจถึง 2 ครั้งนั้น น่าจะสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่รัฐบาลที่มีรัฐมนตรีบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ของนายทักษิณไม่น้อยเลยทีเดียว และจะลามไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ ป.ป.ช. …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (26/9/67)