วันที่ 26 ก.ย.2567 เวลา 11.30 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม การพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นายฐากูร ยะแสง สส.เชียงราย พรรคประชาชน(ปชน.) ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องมาตรการเยียวยาและความช่วยเหลือจากรัฐบาล อันเนื่องมาจาเหตุอุทุกภัยและดินโคลนถล่มภาคเหนือ ว่า อยากทราบว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนภาคเหนือที่ประสบอุทุกภัยอย่างไร จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยร้ายสุดท้ายเสร็จสิ้นเมื่อใด และเห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง จึงของฝากเป็นการบ้านให้รัฐบาลดูแลด้วย
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีงบประมาณ 3 ก้อนใหญ่ๆในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ประกอบด้วย 1.งบประมาณ3,045ล้านบาท ครอบคลุม57จังหวัดพื้นที่ประสบภัย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เบื้องต้นจะได้ที่ประมาณ 5,000-9,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทางรัฐบาลทราบดีว่าไม่เพียงพอแต่เราจำเป็นต้องดูแลทุกคนอย่างทั่วถึง ฉะนั้นเบื้องต้นจะได้แบบปูพรม 5,000 บาทในสัปดาห์นี้ หลังจากนั้นมีแนวโน้มเราจะสามารถของดเว้นให้เป็นอัตรา 9,000 บาทในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัปดาห์หน้า สำหรับขั้นตอนการรับเงินจะเริ่มจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัดประเมินแล้วส่งมายังส่วนกลาง จากนั้นจะอนุมัติเงินจากกรมบัญชีกลางไปยังธนาคารออมสิน ขอให้ลืมกรอบการเยียวยาตามระเบียบราชการกำหนดว่าจะได้รับภายใน 90 วันไป เพราะในวันพรุ่งนี้(27ก.ย.)ประชาชนจะได้รับเงินเยียวยากลุ่มแรกคือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวอีกว่า 2.กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากบ้านเสียหายทั้งหลังช่วยเหลือ 230,000 บาทต่อหลัง กรณีเสียชีวิต 50,000 บาท และ 3.เงินทดลองราชการที่ทุกจังหวัดมีอยู่ 20 ล้านบาท สามารถใช้จ่ายได้ทันที ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมแก่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย อีกจังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายนำไปใช้ซ่อมแซมบ้านเรือนและเหตุฉุกเฉิน และมีแนวโน้มจะเพิ่มเติมให้ที่จังหวัดพะเยา จังหวัดลำปาง จังหวัดสุโขทัยที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้มอบเงินให้แก่กลุ่มเปราะบางด้วย สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกร เยียวยาข้าวไร่ละ 1,340 บาทนั้นเป็นเกณฑ์ปัจจุบัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการระหว่างกรมบัญชีกลางกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับเป็นไร่ละ 2,200 บาท เป็นต้น จึงอยากฝากไปยังเกษตรกรช่วยปรับปรุงบัญชีการประกอบการด้วย เพื่อความรวดเร็วในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
“เรามีมาตรการที่ครบและรอบด้านทั้งเรื่องฟื้นฟูสถานที่พื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นหมุนเวียนเศรษฐกิจ เช่น การปล่อยเงินดิจิทัลวอลเล็ต และการจ่ายเงินของเราเป็นการจ่ายเงินแบบทั่วประเทศ เราเองไม่สามารถทำงานแบบพูด พูด พูด แต่ไม่ได้ทำ เราลงมือทำในพื้นที่จริงๆ ถ้าพูดอย่างเดียวแล้วไม่ทำสถานการณ์คงไม่กลับมาได้โดยเร็ว ดิฉันอยากเห็นประชาชนมีกำลังใจที่ดี
อยากเห็นข้าราชการทำงานโดยไม่มีแรงกดดันจากโซเชียล ทำงานหนักมากแต่โซเชียลไม่ได้เอาไปออกให้คนอื่นเห็นเลย แต่ขณะที่บางคนไม่ได้ทำอะไรเยอะ แต่โซเชียลเยอะทั่วประเทศไปหมด อันนี้เป็นการบั่นทอนจิตใจของผู้ทำงานหน้างานจริงๆ จึงอยากให้ท่านปรับแนวความคิดเสียใหม่ ว่าขณะนี้ทุกๆหน่วยงานลงไปในพื้นที่จริงๆ” รมช.มท. กล่าว