ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย

โลกกำลังดำเนินไปสู่การแบ่งแยกเป็นหลายขั้วโดยชัดเจน นั่นคือขั้วอำนาจตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตร G7 ส่วนขั้วที่กำลังท้าทายอำนาจของสหรัฐฯในฐานะผู้นำเดี่ยว ภายหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็คือพันธมิตรรัสเซีย-จีน

วันที่ 26 ธันวาคม 1991 เมื่อผู้นำ 3 สาธารณรัฐหลัก คือ รัสเซีย เบราลุส และยูเครน ได้ประกาศความสิ้นสุดลงของสหภาพร่วมกับอีกสิบเอ็ดสาธารณรัฐในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ในส่วนของสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียได้กลายสภาพไปเป็น Commonwealth of independent state (CIS) มีนายบอริสเยลซิน เป็นประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย

เหตุล่มสลายของสหภาพโซเวียตตลอดจนการทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน อันนำไปสู่การรวมชาติเยอรมัน การยุบเลิกสนธิสัญญาวอร์ซอ อันเป็นข้อตกลงร่วมมือทางทหารของสหภาพโซเวียตกับกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออก ทำให้หลายฝ่ายเชื่อกันว่า “สงครามเย็น” ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ทว่าภายหลังจากวลาดิเมียร์ ปูติน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของรัสเซีย และสามารถฟื้นฟูรัสเซีย จนมีความเข้มแข็ง รัสเซียก็เริ่มจะต่อต้านการรุกของนาโต ที่คุกคามประชิดชายแดนรัสเซียเข้าไปทุกที จนเกิดการตัดสินใจปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครน ซึ่งรัสเซียถือเป็นประตูหน้าบ้านของตนเอง

ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างนาโต โดยการนำของสหรัฐฯกับรัสเซีย

ในอีกด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายหลังจากการปฏิบัติตามแนวทางของผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง คือ หนึ่งประเทศ 2 ระบบหรือจะเรียกได้อีกชื่อว่า “แมวดำแมวขาวก็จับหนูได้เหมือนกัน” จนประสบผลสำเร็จ สามารถฟื้นฟูประเทศจากความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวด้วยการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ แนวทางเหมา เจ๋อตุง และฟื้นฟูประเทศอย่างต่อเนื่อง จนจีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ และมีโอกาสแซงได้ในทศวรรษหน้า

สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเดี่ยวและกุมอำนาจทั้งเศรษฐกิจและกำลังทหาร และเป็นผู้ควบคุม New World Order (ระเบียบโลกใหม่) ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยกลไกสำคัญ คือ ธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และองค์กรทางการเงินที่ทำหน้าที่โอนเงินระหว่างประเทศ SWIFT เกิดความกังวลใจในการเติบโตของจีนอย่างรวดเร็ว จึงเริ่มกดดันและกีดกัน จีนทางด้านเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ก็เริ่มปิดกั้นการขยายตัวของจีน โดยเฉพาะในเขตทะเลจีนใต้ ที่จีนได้อ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์ขยายอาณาเขตลงมาครอบคลุมเขตทับซ้อนทางทะเลกับกลุ่มประเทศบางประเทศในอาเซียน

ด้วยการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย ในกรณียูเครนและการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้ทั้งรัสเซียและจีนที่แม้ว่ายังมีความขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องดินแดน จำต้องปรับยุทธศาสตร์ของตนในการจับมือเป็นพันธมิตรที่แนบแน่น แบบที่เรียกว่านโยบาย “แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง” ส่วนสหรัฐฯก็กำหนดยุทธศาสตร์ของตนในการปิดล้อมจีนด้วยนโยบายอินโด-แปซิฟิก นั่นคือการจัดตั้งพันธมิตร QUAD ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอินเดีย เพื่อปิดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนจากทะเลจีนใต้ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย อันมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญอยู่ที่ช่องแคบมะละกา

นอกจากนั้นแนวแปซิฟิกใต้ก็จับมือกับอังกฤษ และออสเตรเลีย สร้างความร่วมมือทางทหารและการถ่ายโอนเทคโนโลยีสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ (AUKUS) โดยมีแผนให้ออสเตรเลียจัดสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จำนวน 10 ลำในเวลา 10 ปี เท่านั้นยังไม่พอยังไปจับมือกับความร่วมมือทางทหารระหว่างออสเตรียและนิวซีแลนด์ ที่เรียกว่า ANZUS

ด้วยเหตุนี้จีนจึงต้องปรับยุทธศาสตร์ของตนใหม่ โดยการเข้าไปสร้างอิทธิพลในเมียนมา เพื่อใช้เป็นระเบียงออกมหาสมุทรอินเดีย ด้วยการไปสร้างฐานทัพเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐยะไข่ของเมียนมา สหรัฐฯ จึงแก้เกมด้วยการกดดันบังกลาเทศจนรัฐบาลของเชคฮาซีนาล้ม และสนับสนุนรัฐบาลใหม่ เพื่อหวังจัดตั้งฐานทัพเรือที่เกาะเซ็นต์มาตินของบังกลาเทศ อันนับเป็นการสกัดกองเรือของจีน และรัสเซียที่มีแผนจัดตั้งสถานีบริการกองเรือในรัฐยะไข่ด้วยในขณะเดียวกัน

ด้านรัสเซียก็ปรับยุทธศาสรตร์ใหม่แทนยุทธศาสตร์ทางทหารเดิมที่เน้นการตั้งรับ ทั้งนี้รัสเซียใช้นโยบายการต่างประเทศควบคู่กับนโยบายทางทหารขยายอิทธิพลไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา เช่น นิการากัว เวเนซุเอลา และบราซิล จนกระทั่งมีการวางแผนจะติดตั้งขีปนาวุธให้คิวบา ซึ่งอยู่ห่างจากฟลอริดาของสหรัฐฯไม่เกิน 200 กม.

นอกจากนี้รัสเซียยังมีแผนจัดตั้งฐานทัพเรือที่นิการากัว ในขณะที่จีนได้รับสัมปทานในการขุดคลองนิการากัว เพื่อเป็นเส้นทางใหม่แทนคลองปานามา ที่สหรัฐฯควบคุมอยู่ อันเป็นเส้นทางเชื่อมต่อแปซิฟิค-แอตแลนติก

จุดไคลแม็กซ์อยู่ที่ทวีปแอฟริกาที่จีนเข้าไปลงทุนและร่วมพัฒนากับหลายประเทศ ในขณะที่รัสเซียก็ไปลงทุนโดยเฉพาะการทำเหมืองทองในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ให้การสนับสนุนหลายประเทศทางทหารและการทูต ไล่ตั้งแต่ซูดาน เอริเทรีย ชาดไนเจอร์ บูร์ตินาฟาโซและมาลี โดยรัสเซียมีแผนสร้างเส้นทางเดินเรือใหม่ ที่จะทำให้จุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่ควบคุมโดยตะวันตก โดยเฉพาะช่องแคบยิบรอลตาร์ หมดความหมาย ตลอดรวมถึงคลองสุเอซและคลองปานามา ด้วยแผนการระเบียงซาเฮล(SAHEL)

นั่นคือการขนส่งจากมหาสมุทรอินเดีย ตัดผ่านทวีปแอฟริกาไปออกมหาสมุทรแอตแลนติก ที่เซเนกัล และข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปเข้าคลองนิการากัว ออกมหาสมุทรแปซิฟิค ซึ่งจะทำให้เดินทาง ทางทะเลทุ่นเวลาและค่าใช้จ่ายลงอีกมาก นอกจากนี้ยังจะได้กระจายความเจริญในแอฟริกาให้ขยายตัวมากขึ้น จนกลายเป็นทวีปที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ

ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัสเซียก็มีแผนร่วมมือกับเวียดนาม ตั้งฐานทัพเรือและวางเครือข่ายการขนส่งเชื่อมสปป.ลาวและกัมพูชา และเชื่อมโยงกับท่าเรือของจีนในซัวเถา กวางตุ้ง ส่วนกัมพูชาก็จะขุดคลองฟูนันเตโซ จากพนมเปญมาออกอ่าวไทย ทำให้การขนส่งสินค้าคล่องตัวมากขึ้น

กล่าวโดยสรุปสหรัฐฯมียุทธศาสตร์หลักในเชิงรุก โดยมีนโยบายรบนอกประเทศ ด้านยุทธวิธีคือใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเป็นฐานบัญชาการรบเคลื่อนที่ ซึ่งสหรัฐฯมีถึง 9 ลำ

ประเด็นสุดท้ายที่กลุ่มตะวันออก คือ รัสเซีย-จีน ดำเนินการอย่างเป็นนัยสำคัญ คือการตั้งกลุ่ม BRICS ซึ่งแต่เดิมเป็นแค่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไปสู่การร่วมมือทางทหารในอนาคต และขณะนี้ยังมีแผนจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศตลอดจนพัฒนาไปสู่การออกเงินตราในนามบริกส์

อย่างไรก็ตามจีนนั้นมียุทธศาสตร์หลักเชิงรุกทางเศรษฐกิจนั่นคือBRIส่วนรัสเซียนั้นมีเป้าหมายหลักในการรุกทางอวกาศ ส่วนภาคพื้นดินเน้นการตั้งรับ

จึงเห็นได้ว่าความเป็นไปได้ที่โลกจะแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจนมาก จนทำให้หลายประเทศต้องปรับปรุงท่าทีและยุทธศาสตร์ในการเลือกข้างหรือเป็นกลาง

ดังนั้นประเทศไทยก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ในทุกมิติ มองด้านการต่างประเทศเรา มีนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ แต่ในความเป็นจริงมันจะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อการแบ่งขั้วจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง หากเราจะยืนเป็นกลางโดดๆโดยไม่มีพันธมิตรที่มีกำลังมากพอ เราจะถูกกดดันทั้ง 2 ด้าน แค่เราสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อเป็นทางเลือกในการค้าของเรา สหรัฐฯ ก็ไม่พอใจแล้ว

อนึ่งยุทธศาสตร์ด้านการทหารของเรา คือการตั้งรับที่เรียกว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้แบบเบ็ดเสร็จ คำถามคือเราได้มีแผนเผชิญเหตุในทางปฏิบัติหรือยัง อาวุธยุทธภัณฑ์ทางทหารเหมาะสมและสอดรับกับยุทธศาสตร์หรือไม่ นี่คือโจทย์ที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ทันต่อการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของโลก