เมื่อการท่องเที่ยวโลกมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของนักท่องเที่ยว จึงทำให้การท่องเที่ยวไทยแห่งประเทศไทย หรือ ททท.พลิกโฉมการทำงานอย่างมีนัยยะหลังสถานการณ์โควิดระบาด จนถึงปัจจุบัน ได้มุ่งนำเสนอการท่องเที่ยวผ่านประสบการณ์ที่มีคุณค่า พร้อมสร้างแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ยังผลักดันแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และการท่องเที่ยวชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ส่งเสริมการท่องเที่ยวรับผิดชอบต่อสังคม
ในเรื่องนี้ นางสาวสมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า โครงการของททท.สร้างขึ้นมาเพื่อกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง ด้วยการนำเสนอประสบการณ์ในท้องถิ่น ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่และส่งเสริมภาพลักษณ์ของแต่ละจังหวัดหรือพื้นที่ พร้อมกับการรักษาธรรมชาติ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการปรับภาพลักษณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย และขยายฐานตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงและกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ โดยมุ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังอุตสาหกรรมบริการที่มีคุณภาพสูง ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการท่องเที่ยวเชิงจิตวิญญาณ
ดังนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของ ปี 2567 ทาง ททท.มีแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไว้อย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการปรับแผนรองรับสถานการณ์ท่องเที่ยวในแต่ละช่วงฤดูกาลไว้ อาทิ ช่วงหน้าฝน โดยสั่งการให้สำนักงาน ททท.ทุกภาคปรับแผนเตรียมไว้ จึงเห็นการเดินทางเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเดือนกันยายนมีแคมเปญร่วมกับสายการบินในประเทศ 6 สายการบิน ได้แก่ การบินไทย แอร์เอเชีย บางกอกแอร์เวย์ส ไทยเวียตเจ็ท ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ เป็นซูเปอร์ดีลในวันที่ 9 เดือน 9 ทำราคาขายแบบพิเศษ เน้นเที่ยววันธรรมดา เดินทางได้ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 เพื่อดึงให้เกิดการเดินทางในช่วงวันธรรมดามากขึ้น
ปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อรายได้
อย่างไรก็ตาม นางสาวสมฤดี กล่าวว่า แต่ถ้าหากประเมินในแง่การสร้างรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยว ยอมรับว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบกับการเดินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทย ที่แม้คนยังออกเดินทางเที่ยวอยู่ แต่อาจจับจ่ายน้อยลง รวมถึงการช้อปปิ้งที่ลดลง เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลง อาจไปเห็นของจริงแล้วกลับมาสั่งซื้อผ่านอนไลน์ จึงทำให้รายได้ส่วนนี้ไม่ได้นับรวมกับการจับจ่ายในพื้นที่นั้นๆ
รวมทั้งต้องยอมรับว่าสินค้าหลายอย่าง และชุมชนหลายแห่งตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิดระบาดกลับไม่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ บรรจุภัณฑ์ การบริการ หรืออื่นๆ ดังนั้นจึงอาจไม่จูงใจนักท่องเที่ยวให้ใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเข้าไปช่วยสนับสนุน เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที
โดย นางสาวสมฤดี กล่าวว่า กลไกการตลาดท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และส่งผลดีต่อผู้บริโภค เช่น ถ้ามีการปรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนไทยให้วางแผนระยะยาวมากขึ้น บริหารจัดการเวลาและราคาให้เหมาะสม เช่นการจองล่วงหน้าเพียงไม่กี่วัน ราคาจะสูงกว่าปกติอย่างแน่นอน รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันธรรมดาที่จะช่วยกระจายจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ไม่ไปอัดแน่นวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น