วันที่ 25 ก.ย.2567 เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือพร้อมหลักฐานให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสอบจริยธรรมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กรณีไม่มาประชุมสภาฯ ว่า การมายื่นขอให้ตรวจสอบวันลา มาขาดของ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้มีอคติ หรือมีเจตนาจะใส่ร้ายป้ายสี แต่พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่สส. ซึ่งกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน จึงขอใช้สิทธิตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 40(2)ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของรัฐยื่นตรวจสอบการทำหน้าที่สส.ของพล.อ.ประวิตรว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภา รวมถึงการปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลวันลา มา ขาดในการเข้าประชุมสภาที่ได้มาจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66 จนถึงปัจจุบัน พบว่าพล.อ.ประวิตรลงชื่อมาประชุมโดยใช้บัตรลงทะเบียน 11 ครั้ง ลาป่วย 1 ครั้ง ลากิจ 83 ครั้ง รวมวันขาดประชุมโดยน่าจะใช้การลาเป็นฉากบังหน้าทั้งหมด 84 ครั้ง จากวันประชุมรวม 95 ครั้ง คิดเป็น 88.42 % ที่สำคัญมีอยู่หนึ่งสมัยประชุม พล.อ.ประวิตร ลาทั้งสมัยประชุมฯครบ 100 เปอร์เซน โดยอ้างเหตุผล"ติดภารกิจ" ซึ่งการลาแบบนี้น่าจะถือเป็นการลาที่น่าจะมีเจตนาพิเศษ น่าจะเป็นการจงใจขาดประชุมโดยใช้ "การลาเป็นฉากบังหน้า" และน่าจะมีการใช้อำนาจแทรกแซงเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นการกระทำที่ขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่าสส.จะขาดประชุมได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนวันประชุมในสมัยประชุมและข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสส.ที่ระบุว่าสส.ต้องอุทิศเวลาให้กับการประชุม ต้องไม่ขาดการประชุมโดยไม่จำเป็น เว้นแต่เจ็บป่วยหรือมีเหตุสุดวิสัย

"ผมพบข้อมูลว่าในวันที่พล.อ.ประวิตร แจ้งลาติดภารกิจ ไม่เข้าประชุมสภา บางวันก็ไปนั่งเชียร์วอลเลย์บอลผ่านออนไลน์ เปิดบ้านป่ารอยต่อฯ ให้คนไปอวยพรวันเกิด ผมขอถามหน่อยว่าอวยพรตอนกลางคืนไม่ได้หรือ และอีกหลายๆวันก็พบว่าลาเพื่อไปประชุมพรรคแบบนี้เขาเรียกว่าเหตุสุดวิสัยหรือไม่ ที่สำคัญการขาดประชุมโดยใช้การลาน่าจะเป็นฉากบังหน้า ลาติดต่อกันทั้งสมัยประชุมฯ ถือได้ว่าพล.อ.ประวิตรขาดสมาชิกภาพการเป็นสส.แล้ว ผมหวังว่ากรรมการจริยธรรมฯจะตรวจสอบเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ไม่ช่วยเหลือให้พ้นผิดจนเสียเกียรติภูมิของสภาฯ" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวด้วยว่า ยิ่งในวันที่ลงชื่อมาประชุม ยิ่งน่าสงสัย เพราะจากการตรวจสอบกับเพื่อน สส.หลายคน รวมถึงคนระดับประธานวิปรัฐบาล พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นพล.อ.ประวิตร มาอยู่ในห้องประชุมเลย แต่กลับมีคนเห็นลับๆล่อๆที่ห้องหลังบัลลังก์ประธานสภาในบางครั้ง

"ผมทราบจากแหล่งข่าวว่าการมาประชุมสภาของพล.อ.ประวิตรเป็นเหมือนเหยี่ยวคือ โฉบรถมาเซ็นชื่อชนิดที่ไม่ต้องลงจากรถจริงหรือไม่ แถมมีคนเอาบัตรประจำตัวสส.ไปสแกนให้จริงหรือไม่ ซึ่งผมขอตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ก็อาจจะเป็นสส.คนใดคนหนึ่งเพราะในจุดที่สแกนบัตร คนนอกไม่สามารถเข้าไปได้เข้าข่ายความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ซึ่งผมจะไปยื่นเรื่องขอให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ช่วยตรวจสอบ ค้นหาความจริงเรื่องนี้ในวันศุกร์นี้"นายพร้อมพงศ์กล่าว

นายพร้อมพงศ์ กล่าวต่อว่า การที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าตนไม่มีอะไรมาตรวจ พวกตนเป็นยามเฝ้าสภาฯหรืออย่างไรถึงมาตรวจสอบการทำหน้าที่ของพล.อ.ประวิตร ซึ่งตนไม่ได้เป็นยาม เพราะสภาฯมีระบบในการตรวจสอบอยู่แล้ว

“ผมขอเรียกร้องและวิงวอน ถ้าลาแบบนี้ ลาโดยใช้วิธีพิเศษที่น่าจะไม่เป็นวิธีการปกติทางกฎหมาย ลาออกเถอะ ลาออกจากความเป็นสส. แล้วเลื่อนคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในลำดับถัดไปให้มาทำหน้าที่ เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติสง่างาม อยากให้ท่านออกมาแถลง อย่ามาตอบโต้ หรืออย่ามาฟ้องพวกผม เสียเวลา ฟ้องมาผมฟ้องกลับ ไม่กลัวอยู่แล้ว ผมพร้อมที่จะปกป้องหากประชาชนเสียผลประโยชน์

ที่นายไพบูลย์บอกจะฟ้องผม รีบด้วยนะครับ เพราะฟ้องมาผมจะฟ้องกลับ แจ้งความเมื่อไหร่ ผมจะแจ้งความกลับวันนั้น และจะแจ้งพล.อ.ประวิตรด้วย เพราะมอบหมายมาในข้อหาแจ้งเท็จ รวมถึงเรื่องหมิ่นประมาทด้วย"  นายพร้อมพงศ์ กล่าว