วันที่ 25 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เว็บไซต์ของรัฐสภา ได้เผยแพร่รายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... (แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม) ซึ่งสส.ของพรรคประชาชนเป็นฝ่ายเสนอ

โดยมีเนื้อหาและสาระของการแก้ไขมีรายละเอียดสำคัญ คือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ใน 4 ประเด็น คือ คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรม การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง  และ กระบวนการร้องเรียนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สส.พรรคประชาชน เสนอแก้ไข 10 มาตรา ได้แก่ มาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์  และ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออกไป

แก้ไขมาตรา 168 ว่าด้วยการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่พ้นจากตำแหน่งให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ โดยได้ตัดถ้อยคำที่โยงกับ มาตรา 160 (4) และ (5) ออกไป

แก้ไขมาตรา 186  ในหมวดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งกำหนดให้นำเงื่อนไขที่กำหนดให้ สส. และสว. ปฏิบัติหน้าที่ มาบังคับใช้กับรัฐมนตรี โดยได้ตัดถ้อยคำในวรรคท้าย ที่ระบุโยงการกระทำที่กำหนดไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรม ออกไป 

แก้ไขมาตรา  201 ว่าด้วยคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ออกไป

แก้ไขมาตรา 202 ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยตัด (10) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออกไป

แก้ไขมาตรา 208 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไข (5) เป็น“ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”  จากเดิมที่กำหนดให้พ้นตำแหน่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้พ้นจากตำแหน่งด้วยยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพราะเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 

นอกจากนี้ ยังแก้ไขมาตรา 219 ว่าด้วยบทบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรมใช้บังคับ ที่ครอบคลุมให้ใช้กับ สส. สว. และครม. ได้แก้ไขให้เป็น “ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างมีอำนาจกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับผู้ดำรงตำแหน่งและหัวหน้างานหน่วยธุรการขององค์กรตนเอง” 

แก้ไขมาตรา 234 ว่าด้วยหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. โดยตัดถ้อยคำใน (1) ที่กำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนและมีความเห็นกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ออก  และตัด (4) หน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ออกทั้งวงเล็บ

แก้ไข มาตรา 235 ว่าด้วยการตรวจสอบ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดขั้นตอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยได้ตัด (1) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

นอกจากนั้นยังแก้ไขในส่วนของบทกำหนดโทษ ที่ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ที่ถูกพิพากษา จากเดิมที่กำหนดเวลา 10 ปี เป็น 5 ปี และตัดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งออก ทำให้บทลงโทษดังกล่าวเหลือเพียงการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปี เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชนยังแก้ไขมาตรา 236 ว่าด้วยการตรวจสอบ ป.ป.ช. ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้สิทธิ สส.สว. หรือ ประชาชนไม่น้อย 2หมื่นคนเข้าชื่อ และยื่นต่อประธานรัฐสภา ได้เสนอแก้ไขเป็น “ประธานรัฐสภาเมื่อรับเรื่องแล้ว ต้องเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ” โดยอัตโนมัติ จากเดิมให้ประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ก่อนส่งไปยังประธานศาลฎีกา ให้ตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ