พม.เผยช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 33 จังหวัด พร้อมให้เงินช่วยเหลือกว่า 10,000 ราย พร้อมเคาะพักชำระหนี้ 3 เดือน ทั้งต้นและดอกเบี้ย "สุดาวรรณ"ระบุเร่งสำรวจวัดได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ย้ำมีงบฯสำหรับซ่อมแซมแน่นอน ขณะที่อุทยานแห่งชาติภูลังกาปิดชั่วคราวหลังฝนถล่มหนักดินสไลด์
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบอุทกภัย ว่า ขณะนี้กระทรวง พม. ได้เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือในพื้นที่ทั้งหมด 33 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมามีประชาชนที่ได้รับผลกระทบประมาณเกือบ 50,000 ครัวเรือนในหลายพื้นที่ โดยโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากระทรวง พม. ได้ให้เงินช่วยเหลือไปแล้วกว่า 10,000 ราย รวมถึงเปิดพื้นที่และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย รวมถึงสุขาเคลื่อนที่ด้วย พร้อมกับเปิดพื้นที่ของ พม.จังหวัด ให้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อรองรับผู้ประสบภัยทั้งหมด 42 แห่ง
สำหรับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่ดูแลเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น ได้มีการประชุมและมีมติล่าสุดให้มีการพักชำระหนี้ทั้งต้นและดอกเป็นเวลา 3 เดือน ให้กับสหกรณ์ที่อยู่ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง โดยขณะนี้มีกว่า 29 องค์กรแล้วที่จะได้รับการอนุมัติ และมีกว่า 6,000 ครัวเรือน ที่ได้รับการพักชำระหนี้ และหากใครที่ยังไม่ได้สิทธิ์ ก็สามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ ส่วนสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก กระทรวง พม.ก็จัดนักสังคมสงเคราะห์ร่วมกับเจ้าหน้าที่มหาดไทย เพื่อดูแลเรื่องร่างกายและจิตใจ
สำหรับเรื่องปัญหาโคลนภายหลังจากน้ำลดแล้วนั้น คงต้องอาศัยแรงกายแรงใจ และต้องให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงหน่วยงานที่ได้ลงพื้นที่ด้วย ได้เห็นน้ำใจจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งสำคัญ คือน้ำที่ท่วมในปีนี้เป็นน้ำโคลนเลน 100% ทำให้เห็นว่าปริมาณน้ำที่ตกลงมานั้นชะล้างแต่ดินลงมา จากนี้ไปคงต้องฝากประชาชนในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำต้นน้ำให้รักษาพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้และพืชคลุมดิน เนื่องจากเป็นห่วงเหลือเกินว่าสถานการณ์ในปีต่อๆไปจะซ้ำรอยอีก หากเราไม่เพิ่มพื้นที่สีเขียว
ด้าน น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่น้ำท่วม พบว่าวัดต่างๆ ได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ ต้องรอรายงานจาก อธิบดีกรมการศาสนาและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากน้ำลดหมดแล้วก็ต้องลงไปสำรวจ เพิ่มเติมอีกว่าได้รับความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เพื่อหาแนวทางต่อว่าจะซ่อมแซมอย่างไร
"ยืนยันว่ากระทรวงวัฒนธรรมมีงบประมาณสำหรับซ่อมแซมวัดต่างๆที่ถูกน้ำท่วมแน่นอน เพราะไม่ได้มีแค่วัดอย่างเดียวแต่ยังมีเรื่องอื่นที่กรมศิลป์ฯ ดูแล ซึ่งตนเองได้สั่งให้เร่งส่งรายงานมาให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้รีบไปซ่อมแซม
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเกิดร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ รวมถึงภาคอีสานตอนบนทำให้ที่ จ.นครพนม มีฝนตกหนักถึงร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ติดอุทยานแห่งชาติภูลังกา (อช.ภูลังกา) อ.บ้านแพง จ.นครพนม มีปริมาณฝนเฉลี่ยถึง 100 -140 มิลลิเมตร ตั้งแต่ช่วงเมื่อวันที่ 23 กย.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักท่วมน้ำตกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเขตอุทยานแห่งชาติภูลังกา อาทิ น้ำตกตาดโพธิ์ และน้ำตกตาดขาม รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวขึ้นถ้ำนาคีฝั่ง จ.นครพนม และถ้ำนาคาฝั่ง จ.บึงกาฬ นอกจากนี้ ยังมีดินภูเขาสไลด์ เสี่ยงอันตรายมาก นั้น
ล่าสุด ทางอุทยานแห่งชาติภูลังกาจึงได้มีคำสั่งปิดพื้นที่เขตอุทยานชั่วคราว ป้องกันการเกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยว พร้อมใช้โอกาสดังกล่าวฟื้นฟูเส้นทางท่องเที่ยวชมหินเกล็ดพญานาค ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หากไม่มีฝนตกหนักลงมาซ้ำอีก จะสามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ในภาย 1 -2 วัน แม้ล่าสุดมีปริมาณฝนลดลง สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ระดับน้ำป่าเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังอีกระยะ
นอกจากนี้ ยังมีหมู่บ้านเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันคือพื้นที่บ้านไผ่ล้อม ต.ไผ่ล้อม อ.บ้านแพง จ.นครพนม กว่า 200 ครัวเรือนเนื่องจากที่ตั้งชุมชนอยู่ติดกับเขาภูลังกา อีกทั้งยังมีลำห้วยลังกาไหลผ่ากลางหมู่บ้านก่อนระบายน้ำลงสู่น้ำโขง จึงต้องเตรียมพร้อมจัดเก็บสิ่งของขึ้นที่สูง ป้องกันความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก หากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง รวมถึงน้ำท่วมฉับพลัน โดยชุมชนดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงประสบภัยน้ำป่าไหลหลากท่วมเกือบทุกปี เนื่องจากน้ำลำห้วยภูลังกาล้น ไหลระบายสู่น้ำโขงไม่ทัน ยิ่งหากระดับน้ำโขงสูง จึงต้องเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ปริมาณน้ำในดินสะสมจนเกิดน้ำป่าไหลหลาก ล้นเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบกได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งประสานไปยังศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของหน่วยทหารในพื้นที่ประสบภัยให้จัดกำลังพลและเครื่องมือในการบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน ดังนี้
ในพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 ตำบล 29 หมู่บ้าน รวม 1,023 ครัวเรือน ประกอบด้วย ต.สันสลี, ต.เวียง, ต.บ้านโป่ง, ต.ป่างิ้ว, ต.เวียงกาหลง, ต.แม่เจดีย์ และ ต.แม่เจดีย์ใหม่ ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 37 และกำลังพลจิตอาสาของ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 17 ได้ดำเนินการอพยพนักเรียน โรงเรียนนุชนาถอนุสรณ์ กว่า 90 คน ซึ่งประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ ต.ป่างิ้ว ออกไปยังพื้นที่ปลอดภัย บริเวณที่ว่าการอำเภอเวียงป่าเป้า พร้อมให้การสนับสนุนศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอเวียงป่าเป้าในการติดตามสถานการณ์ เข้าช่วยเหลือประชาชน วางกระสอบทรายเพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญและเขตชุมชน รวมทั้งจัดกำลังสนับสนุนการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 33 โดย ชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็วของ กองพลทหารราบที่ 7 พร้อมยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะ ร่วมกับส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ บ.ห้วยโจ้, บ.ต้นแก้ว บ.ท้องฝาย และ บ.โฮ่ง ใน ต.แม่แรม โดยได้ช่วยอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัยและขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านเรือนของประชาชนขึ้นที่สูง
ด้าน พื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าดอยขุนตาลไหลหลากจนล้นห้วยแม่ตาลเข้าท่วมบ้านเรือน ประชาชนเสียหายกว่า 500 หลัง รวมถึงเส้นทางคมนาคมถูกน้ำกัดเซาะจนเกิดความเสียหาย ทำให้ไม่สามารถสัญจรในพื้นที่ได้ ซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 32 จัดชุดบรรเทาสาธารณภัยและกำลังพลจิตอาสา ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ นำเครื่องอุปโภค - บริโภค เข้ามอบให้ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดชุดเสนารักษ์เข้าทำการตรวจสุขภาพและแจกจ่ายยารักษาโรค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที