รูดม่านปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับ การประชุมสุดยอดของกลุ่มจตุภาคี 2024 (พ.ศ. 2567) หรือควอดซัมมิต 2024 (Quad Summit 2024) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อันประกอบด้วยผู้นำชาติสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐอเมริกา นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายแอนโทนี แอลบานีส นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายนเรนทรา โมทิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย

ในการประชุมสุดยอดของกลุ่มจตุภาคีครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ประเทศสหรัฐฯ รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว เจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด คือ ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ในการประชุมของกลุ่มจตุภาคีครั้งถัดไปในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ก็จะเป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของชาติสมาชิก โดยสหรัฐฯ จะยังคงเป็นเจ้าภาพ ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้แก่อินเดีย รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ หรือซัมมิต ต่อไปในปี 2025 แต่ยังไม่กำหนดวันเดือนที่แน่ชัด

โดยในการประชุมสุดยอดกลุ่มจตุภาคี 2024 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ทางการสหรัฐฯ เจ้าภาพ ได้จัดสถานที่การพบปะหารือของ 4 ผู้นำ ไว้ที่เมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ ซึ่งเป็นรัฐถิ่นพำนักของประธานาธิบดีไบเดน ที่เขาย้ายมาอาศัยจากรัฐเพนซิลเวเนีย โดยเขาอาศัยอยู่มาตั้งแต่อายุ 10 ขวบเท่านั้น จนเติบใหญ่ที่นี่ และได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของรัฐแห่งนี้ ก่อนได้เป็นรองประธานาธิบดี และประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ตามลำดับ

สถานที่จัดประชุมก็เป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อ “อาร์คเมียร์ อคาเดมี” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนระดับมัธยมศึกษาและวิทยาลัยของคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกในสหรัฐฯ ที่ประธานาธิบดีไบเดนเคยเรียน ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

ก็ต้องถือว่า ไม่บ่อยนักที่สถาบันการศึกษา จะถูกใช้เป็นสถานที่จัดประชุมระดับสุดยอดผู้นำ หรือซัมมิต ในลักษณะนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นสถานที่สำคัญๆ ของทางการระดับประเทศ หรือไม่ก็โรงแรมหรูระดับ 5 ดาว เป็นต้น

นอกจากใช้โรงเรียนดังกล่าวแล้ว ประธานาธิบดีไบเดน ยังใช้บ้านพักของเขาในเมืองวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ เป็นสถานที่พบปะหารือกับผู้นำของชาติสมาชิกกลุ่มควอด แบบทวิภาคี หรือสองต่อสองด้วย เริ่มจากการพบปะกับนายกรัฐมนตรีแอลบานีสของออสเตรเลียเป็นปฐม แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรีคิชิดะของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีโมทิของอินเดียในอีกวันถัดมา ส่งผลให้บรรยากาศการพบปะหารือเป็นไปอย่างเป็นกันเอง มากกว่าจะใช้สถานที่ของทางการเป็นสถานที่พบปะหารือแบบทวิภาคีที่มีขึ้น

ประเด็นสำคัญของประชุมสุดยอด 4 ผู้นำชาติสมาชิกจตุภาคีครั้งนี้ ก็มี 2 ประเด็นใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ การขยายอิทธิพลทางการทหารของจีน และการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยทำการต่างๆ ของเกาหลีเหนือ

โดยประเด็นการขยายอิทธิพลทางการทหารของจีนนั้น ถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 หรือลำดับแรก บนโต๊ะประชุมสุดยอดจตุภาคี 2024 ที่มีขึ้น

ถึงขนาดเป็นข้อวิตกกังวลเป็นอย่างมาก หรืออย่างยิ่งยวด (Serious concerns) กันเลยทีเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากกรณีที่จีนฝ่าฝืน หรือละเมิด น้ำน่านและพรมแดนของบรรดาประเทศต่างๆ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา

ไม่ว่าจะเป็นน่านน้ำในย่านช่องแคบไต้หวัน และทะเลจีนตะวันออก ตลอดจนทะเลจีนใต้ ที่อยู่ห่างไกลออกไป หลายประเทศล้วนเผชิญหน้ากับกองเรือรบของจีนที่แล่นเข้ามารุกล้ำน่านน้ำ

โดยช่องแคบไต้หวันนั้น แทบจะไม่ต้องพูดถึง นอกจากกองเรือรบ และฝูงบินรบ ของกองทัพจีน รุกล้ำน่านน้ำ น่านฟ้า ของไต้หวันแล้ว ทางกองทัพจีน ก็ยังซ้อมรบเพื่อข่มขวัญต่อไต้หวันอีกต่างหากด้วย ดังเช่นการซ้อมรบเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ส่วนทะเลจีนตะวันออกนั้น ล่าสุด เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ กองเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ของจีน ซึ่งมีเรือพิฆาตแล่นมาประกบด้วยนั้น แล่นเข้าไปในน่านน้ำของญี่ปุ่น บริเวณระหว่างเกาะโยนากูนิและเกาะอิริโอโมเตของญี่ปุ่น อันถือเป็นครั้งแรกที่กองเรือรบของจีนรุกล้ำน่านน้ำของญี่ปุ่น นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โดยก่อนหน้านี้ กองเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพจีนดังกล่าว ได้เขย่าขวัญไต้หวัน ด้วยการแล่นโฉบน่านน้ำของไต้หวันมาแล้ว

ขณะที่ ทะเลจีนใต้ กองเรือรบของจีน ก็ยังเผชิญหน้ากับกองเรือรบของฟิลิปปินส์หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ถึงฉีดน้ำแรงดันสูง หรือยิงแสงเลเซอร์เข้าใส่กัน โดยน่านน้ำของท้องทะเลแห่งนั้น จีนมีข้อพิพาทกับหลายชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากฟิลิปปินส์แล้ว ก็ยังมีเวียดนาม นอกจากนี้ ปัญหาพิพาทก็ยังลุกลามไปถึงน่านน้ำเกาะแก่งของอินโดนีเซียด้วย ทั้งๆ ที่เป็นเกาะที่อยู่ใกล้อินโดนีเซียมากกว่าจีน แต่ทางจีนก็คุกคามเอา อย่างหมู่เกาะนาทูนาของอินโดนีเซียที่กำลังเป็นปัญหา

นอกจากนี้ ในส่วนของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของกลุ่มจตุภาคี ก็ยังวิตกกังวลต่อกรณีที่จีนขยายอิทธิพลเข้าไปในในหมู่เกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งใกล้ชิดติดกับออสเตรเลียอีกด้วย

ส่วนที่อินเดีย อีกหนึ่งชาติสมาชิกจตุภาคี ก็มีปัญหาพิพาทกับจีนในเรื่องพรมแดนทางบก เช่น กรณีพิพาทดินแดนแคว้นอรุณาจัลประเทศของอินเดีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน ถึงขนาดใช้ไม้มีตะปู เป็นกระบองเข้าตีใส่กัน ระหว่างทหารของทั้งสองประเทศ

โดยในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเรื่องพิพาทน่านน้ำทางทะเล และกิจกรรมทางทะเลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกข้างต้นนั้น ทางประธานาธิบดีไบเดน เปิดเผยถึงแนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคแห่งนี้ขึ้น ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือของหน่วยยามฝั่งทางทะเลระหว่างกันขึ้นอันถือเป็นครั้งแรกของความร่วมมือดังกล่าว แม้ว่าความร่วมมือนี้ยังเป็นเพียงข้อริเริ่มอยู่เท่านั้น โดยคาดว่า จะมีการหารือกันต่อไป นอกจากนี้ ยังจะมีการร่วมมือในเรื่องของเทคโนโลยีทางทะเลใหม่ๆ ให้แก่บรรดาชาติสมาชิกหุ้นส่วน เพื่อใช้ตรวจการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นในน่านน้ำของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยมุ่งเน้นให้เกิดความมั่นคงและเสรีภาพในการเดินทะเลในภูมิภาคแห่งนี้เป็นประการสำคัญ