จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดลำปาง ดังนี้
จังหวัดเชียงราย เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วม รวม 7 ตำบล 29 หมู่บ้าน 1,023 ครัวเรือน อีกทั้ง น้ำยังได้ท่วมผิวการจราจร ถนนสาย 118 เชียงใหม่ - เชียงราย จำนวน 2 จุด โดยจุดแรกบริเวณหน้าโบสถ์ตำบลป่างิ้ว และจุดที่ 2 บริเวณบ้านบวกขอน หมู่ที่ 9 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในปริมาณสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจนเต็มระดับความจุอ่างเก็บน้ำ สถานการณ์ปัจจุบันฝนตกเล็กน้อย ระดับน้ำและความรุนแรงของน้ำหลากลดลงต่อเนื่อง ระดับน้ำท่วมถนนและชุมชนระดับน้ำทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง
จังหวัดลำปาง เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองลำปาง อำเภอแม่เมาะ อำเภองาว อำเภอเกาะคา อำเภอวังเหนือ อำเภอแม่พริก อำเภอสบปราบ และอำเภอเถิน รวม 19 ตำบล 41 หมู่บ้าน 32 คน 1,500 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย โดยสถานการณ์ปัจจุบันปริมาณแม่น้ำวังสูงขึ้นและเอ่อล้นเข้าท่วมถนนริมแม่น้ำวัง บริเวณสะพานเสตุวารี จนถึงสะพานช้างเผือก และยังไม่ส่งกระทบบ้านเรือนประชนบริเวณริมแม่น้ำวัง ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ติดริมแม่น้ำวัง ขนทรัพย์สินและสิ่งของไปไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว ส่วนพื้นที่อื่นระดับน้ำลดลง
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำวัง ช่วงวันที่ 24 ก.ย.-3 ต.ค. 67 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำวัง ขอให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนี้
จ.ลำปาง ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.เถิน ประมาณ 0.2-0.5 ม. ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค. 67
จ.ตาก ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.สามเงา ประมาณ 1.0-1.3 ม. ในช่วงวันที่ 24 ก.ย.-3 ต.ค. 67
ขณะที่สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ก.ย. 67 ดังนี้
- ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ จ.น่าน (212 มม.), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย (130 มม.), ภาคใต้ จ.ยะลา (113 มม.), ภาคกลาง จ.ลพบุรี (75 มม.), ภาคตะวันออก จ.ตราด (55 มม.) และภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี (38 มม.)
- สภาพอากาศวันนี้ ร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมฝ่ายตะวันออกบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
- คาดการณ์ช่วงวันที่ 25-29 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม ปริมาณน้ำรวม 70% ของความจุเก็บกัก (56,145 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 55% (31,961 ล้าน ลบ.ม.
#เตือนภัย #เฝ้าระวัง #พายุ #น้ำท่วม