“หอการค้าไทย” หนุนนโยบาย 10 ข้อของ ก.พาณิชย์ ชี้แจกเงินหมื่นบาทกระตุ้นใช้จ่าย ชงทำโครงการคูณสอง มาตรการภาษี เพิ่มกำลังซื้อ ขอเร่งแก้หนี้ในและนอกระบบ ดูแลสินค้าเกษตร ป้องกันสินค้านำเข้าไม่มีคุณภาพ
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยเห็นด้วยกับนโยบายการขับเคลื่อนงานของกระทรวงพาณิชย์ที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์กำหนดไว้ 10 ข้อ เพราะตรงกับข้อเสนอของหอการค้าไทยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ รวมไปถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมาตรการลดรายจ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นด้วยกับการนำสินค้าธงฟ้าเข้าไปช่วยลดภาระให้กับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วม ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงิน 1 หมื่นบาท เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มเปราะบางทันที แต่มีข้อเสนอให้เพิ่มโครงการคูณสอง เพื่อดึงกำลังซื้อประชาชน โดยรัฐสนับสนุนกึ่งหนึ่ง ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง ต้องการให้นำมาตรการจูงใจทางภาษี เช่น Easy E-Receipt เข้ามากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงที่เหลือของปี โดยใช้งบประมาณภาครัฐไม่มาก
สำหรับมาตรการสำหรับผู้ประกอบการ เสนอให้เร่งแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะหนี้ที่เป็นอุปกรณ์ทำมาหากินของผู้ประกอบการรายย่อย เช่น รถกระบะที่มีแนวโน้มถูกยึดสูง รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินได้ ส่วนหนี้นอกระบบ มีแผนเข้าพบกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพุดคุยและหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา และในด้านการขยายตลาด ผู้ประกอบการอยากเห็นการทำงานเชิงรุกในตลาดตะวันออกกลาง ซาอุดิอาระเบีย จีน เวียดนาม และอินเดีย อยากเห็นการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ เร่งผลักดันการเจรจา FTA และเดินหน้าผลักดัน EEC ต่อเนื่อง โดยเร่งขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม พัฒนาระบบน้ำให้เพียงพอ และยกระดับ 10 เมืองสู่เมืองหลัก เพื่อกระจายความเจริญ ทั้งลงทุน ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่นโยบายเฉพาะสำหรับแต่ละกลุ่มได้เสนอให้มีการทำศูนย์ประสานงานสินค้าภาคเกษตร ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงความต้องการของตลาดกับสินค้าภาคเกษตรที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าต่างประเทศทุ่มตลาดเข้ามายังประเทศไทย การส่งเสริม Green Industry ที่ไม่ใช่เฉพาะสินค้า แต่รวมถึงภาคการค้าและบริการ โดยเฉพาะ บริษัทใหญ่ที่มีความพร้อมสามารถเข้าไปช่วยผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนได้ นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 และ 68 โดยเฉพาะงบการลงทุนและก่อสร้าง ซึ่งส่วนนี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่