หนักสุดรอบ 58 ปี “เลย”อ่วม! น้ำพานหนุนเอ่อท่วมบ้านนาอ้อกว่า 200 หลังคาเรือนจมบาดาล ระดมเจ้าหน้าที่เทศบาล เร่งอพยพผู้ป่วย คนพิการ คนสูงอายุ ชาวบ้านหนีวุ่น “ปภ.”เผย 6 จังหวัด ยังเผชิญสถานการณ์อุทกภัย ปชช.เดือดร้อนกว่า 1.8 หมื่นครัวเรือน “รมช.เกษตรฯ” เตรียมแผน 3 มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ระบุ “นายกฯ” สั่งประชุมเยียวยาช่วยเกษตรกรวันนี้
เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกอย่างหนักนานกว่า 16 ชั่วโมง ในจ.เลย ล่าสุดได้มีน้ำพาน เอ่อเข้าท่วมหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 7 ตำบลนาอ้อ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย มีน้ำป่าจากภูพานไหลมาจากภูเขาสูง ไหลเข้าท่วมรอบหมู่บ้านนาอ้อ ส่งผลให้น้ำหลากเข้าไปในบ้านพักอาศัย มีบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมแล้วประมาณ 200 หลังคาเรือน ตั้งแต่ระดับน้ำ 10-50 เซนติเมตร และถือว่าน้ำท่วมบ้านนาอ้อครั้งนี้หนักสุดในรอบ 58 ปี ทางเจ้าหน้าที่จากเทศบาลตำบลนาอ้อ พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อส. ได้เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน อพยพผู้ป่วย คนพิการ คนสูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งได้อย่างปลอดภัย
ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามของนายประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล สว. เรื่อง มาตรการเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติอุทกภัย และแนวทาง ยุทธศาสตร์บูรณาการจากกระทรวงต่างๆ ในการป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยถาม รมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมอบหมายให้นายอิทธิ ศิริลัทธิยากร รมช.เกษตรฯ มาตอบแทน
นายอิทธิ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด กระทรวงเกษตรฯไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้บริหารจัดการมาตลอด และหลังจากนี้ยังมีแผนงานฟื้นฟูเกษตรกรหลังจากน้ำลด 3 มาตรการ คือ 1. การฟื้นฟูอาชีพ เตรียมพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์น้ำให้เกษตรกรกลับมาทำอาชีพโดยไว 2. ฟื้นฟูพื้นที่ทางเกษตรให้กับสูบสู่ภาวะปกติ โดยกรมพัฒนาที่ดิน 3. ลดหนี้สินให้กับสมาชิกสถาบันการเกษตร และขยายเวลาชำระหนี้และขอย้ำว่ารัฐบาลตระหนักถึงความเสียหายของอุทกภัย นายกรัฐมนตรีได้สั่งการทุกกระทรวงเร่งแก้ไขปัญหาและรับมือสถานการณ์น้ำในอนาคต
“ผมยืนยันได้ว่ามาตรการเยียวยาและยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรของรัฐบาลต้องการทำให้การเยียวยาถึงประชาชนและเกษตรกรอย่างรวดเร็วที่สุดเพราะว่านายกนายกรัฐมนตรีทราบว่าความเดือดร้อนของประชาชนหากช่วยได้เร็วขึ้นซักช่วงเวลาหนึ่ง นี่คือนโยบายและในวันที่ 24 ก.ย.นี้ นายกรัฐมนตรี จะประชุมเร่งรัดมาตรการเยียวยาเพื่อให้ถึงมือประชาชนและเกษตรกรโดยเร็ว แต่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน ซึ่งรัฐบาลและวุฒิสภาต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันด้วยความเป็นห่วงเกษตรกร หวังให้เกษตรกรกลับมาใช้ชีวิตได้ ปกติโดยเร็ว”
ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์อุทกภัย ว่า ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม ถึงวันที่ 23 กันยายน 2567 เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 33 จังหวัด รวม 175 อำเภอ 766 ตำบล 4,017 หมู่บ้าน และมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 160,739 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 46 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน ซึ่งปัจจุบันยังมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 27 อำเภอ 130 ตำบล 598 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,087 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ปภ.ได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัย อาทิ เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว รถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200 KVA รถบรรทุกเล็ก รถลากเรือเคลื่อนที่เร็ว เรือท้องแบน อุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ พื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เข้าร่วมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์ภัย รวมถึงช่วยฟื้นฟูถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน ในพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด