“นายกฯแพทองธาร” นั่งหัวโต๊ะประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ดีใจได้ร่วมงานแม้บางคนใกล้เกษียณ ย้ำ“นายกฯ” เข้าถึงไม่ยากนัดหารือได้ทุกเมื่อ ด้าน “สนธิญา” จี้ “ประธานรัฐสภา” เบรกบรรจุร่างแก้รัฐธรรมนูญ รายมาตรา ยันขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา114 ขู่ยังฝืน เจอร้อง “ป.ป.ช.” ส่วน"ศรีสุวรรณ" บุกปปช.ร้องสอบ "พรรคการเมือง" ยื่นแก้ รธน.รายมาตรา รื้อ "จริยธรรม" ชี้เข้าข่ายขัด ม.185 ส่วน“เรืองไกร” ร้องซ้ำ สอบปม “แพทองธาร” ลาออกจากกรรมการ 20 บริษัท  ผิดหลักกฎหมาย ขณะที่ “เกณิกา” ลาออกจากสมาชิก “พปชร.” จับตาทำงานกับพรรคไหนต่อหรือไม่ “เรืองไกร” ร้องซ้ำ สอบปม “แพทองธาร” ลาออกจากกรรมการ 20 บริษัท  ผิดหลักกฎหมาย


เมื่อวันที่ 23 ก.ย.67 เวลา 10.30น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า  ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า วันนี้รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างมากที่ได้มาเจอทุกคน แน่นอนว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่บุคคลที่ใกล้เกษียณอายุราชการมีเวลาทำงานด้วยกันสั้นไปนิดหนึ่ง แต่ในช่วงสถานการณ์อุทกภัยก็ได้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน  ซึ่งต้องขอขอบคุณในการทุ่มเทความรู้ ประสบการณ์ และแรงกาย แรงใจในการทำงาน รวมไปถึงภาคส่วนที่ยังทำงานอยู่ในวันนี้ที่ยังมีความเข้มแข็งกันอย่างมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะขอความช่วยเหลืออะไรก็จะได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วมาเสมอ จึงขอขอบคุณมาก ๆ และขออนุญาตส่งต่อความหวังดี และความห่วงใยไปยังทุกคนที่ทำงานหนัก หากมีอะไรให้ปรึกษากันได้ ติดต่อ หรือจะพูดคุยนอกรอบก็ยินดีมาก ๆ ซึ่งตนต้องการทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง ขออย่าคิดว่า การพบนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เป็นเรื่องยาก ขอเพียงแค่ติดต่อเข้ามา และมาพูดคุยในเรื่องของการทำงาน หรือจะช่วยในการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง ซึ่งคิดว่า ทุกคนมีความตั้งใจเดียวกันคือ การพัฒนาประเทศ และการทำงานให้ประชาชนมีความสุข มีประเทศที่มีการเตรียมความพร้อมแล้วเป็นอย่างดี พร้อมย้ำว่า การทำงานเป็นทีมจะช่วยให้ทุกอย่างสำเร็จได้ง่ายขึ้น ซึ่งตนมีความดีใจที่ได้พบกับทุกคน

ที่รัฐสภา นายสนธิญา สวัสดี  อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การกฎหมายการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคเพื่อไทย(พท.) และพรรคประชาชน(ปชน.) หรือพรรคการเมืองอื่น เนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 114  และไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรทำ

นายสนธิญา กล่าวว่า สส.ของพรรคประชาชน จำนวน 44 คน หรือ พรรคก้าวไกลเดิม อยู่ระหว่างการสอบสวนและดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังนั้นกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา สนับสนุนการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชน เป็นการทำลายความชอบธรรมของระบบการคัดสรร ตั้งบุคคลเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมืองการบริหารประเทศ  นอกจากนั้นแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นการหลีก หลบ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไทยลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ กว่า 16 ล้านคน  นอกจากนั้นเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำประชามติ เมื่อ 7 ส.ค. 2559

“พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน คือ พรรคที่ถูกร้องเรียนร้องทุกข์และถูกดำเนินคดีกรณีจริยธรรม คุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งปุถุชนคนธรรมดาสามารถรับรู้มองเห็นได้ ไม่ต้องตีความ ทั้งนี้การร่วมลงชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของสส. เป็นการกระทำที่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา 114 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่ทำเพื่อประโยชน์พรรคการเมือง หรือผู้ที่ทำผิดกฎหมาย และจริยธรรม เพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาล ที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย”

นายสนธิญา กล่าวว่า หากมีการดำเนินการดังกล่าวในกลไกของรัฐสภา ตนเตรียมพิจารณายื่นเรื่องร้องเรียนประเด็นจริยธรรมต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) หรือในทุกหน่วยงานที่ทำได้ ดังนั้นขอให้สภาฯ แก้ปัญหาให้ประชาชน ส่วนรัฐธรรมนูญว่ากันภายหลัง อีกทั้งตนมองว่าคนดีชั่วไม่อยู่ที่กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่บุคคลว่าจะทำงานให้ประชาชนได้มากน้อยหรือไม่

ที่สำนักงานใหญ่คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จ.นนทบุรี นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องเพื่อขอให้ ป.ป.ช.ไต่สวน และวินิจฉัยกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหรือพรรคการเมืองได้ยื่นแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจ ป.ป.ช. และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบจริยธรรมนักการเมือง ฯลฯ เป็นการขัดกันแห่งผลกระโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ ม.185 หรือไม่
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีพรรคการเมืองบางพรรคต้องการแก้ในประเด็นจริยธรรม และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช.ในการวินิจฉัยเรื่องดังกล่าว มีประเด็นที่อาจไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 โดยตรง ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ใช้สถานะหรือตําแหน่ง การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภากระทําการใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่าย หรือแทรกแซง (หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ) เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีนักการเมือง และพรรคการเมืองบางพรรคต่างมีบาดแผลจากการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญกันทั้งสิ้น ถูก ป.ป.ช.วินิจฉัยส่งศาลฎีกาพิพากษาลงโทษ และหรือถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ทำให้อดีตนักการเมืองหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง หลุดจากวงโคจรของการเป็นนักการเมืองไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ล้วนมีผลมาจากการฝ่าฝืนจริยธรรมแทบทั้งสิ้น และยังมีเข้าคิวรอถูกไต่สวนและวินิจฉัยอีกมาก ดังนั้น การที่พรรค การเมือง นักการเมืองรีบเร่งขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในเรื่องที่เกี่ยวกับจริยธรรม โดยไม่สนใจเรื่องปากท้อง เรื่องลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน จึงอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยตรง

"ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จึงต้องนำความไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน และมีความเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจิต 2561 ซึ่งหาก ป.ป.ช.วินิจฉัยว่าเข้าข่าย ก็อาจต้องส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อดำเนินการเอาผิดนักการเมืองต่าง ๆ ที่ลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราดังกล่าวต่อไป ซึ่งเราเคยเห็นผลงานของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาหลายกรณีแล้ว และเนื่องจากพรรคการเมือง นักการเมืองกำลังจะเข้ามาก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยตรงอีกด้วย จำจะต้องสั่งสอนนักการเมืองต่าง ๆ ให้จำเป็นบทเรียนเสียบ้าง" 

วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต.เพื่อขอให้ตรวจสอบการลาออกจากกรรมการบริษัท 20 แห่ง ของน.ส.แพทองธาร เทียบเคียงกับการลาออกจากบริษัทของน.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ​กระทรวงมหาดไทย โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ระบุห้ามรัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรีถือหุ้นเกินร้อยละ 5 หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด โดยการถือหุ้นร้อยละ 5 นั้นมีเงื่อนไขคือต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วน และหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ 2543    หมายความว่าหากเกินร้อยละ 5 และอยากจะถืออยู่ก็จะต้องไปแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ต้องไปหาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เป็นคนจัดการ ซึ่งเรื่องนี้ในเว็บไซต์ของ ป.ป.ช.ก็มีรายละเอียดหลายราย เช่น กรณีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นต้น 

แต่กรณีนี้จะเห็นว่าการลาออกจากกรรมการ และผู้ถือหุ้นของบริษัทท่าทรายหนองมะโมง จำกัด ของ น.ส.ซาบีดา นั้นจะเห็นว่า มีการเขียนคำขอและเซ็นต์เอกสารโดย น.ส.ซาบีดา และนายปภณ จบศรี ไปยื่นขอจดทะเบียน แบบ บอจ. 1   แต่ถ้าเทียบกับกรณีน.ส.แพทองธาร ไม่ได้เซ็นอะไรเลย ดังนั้นมีอะไรถูก  อะไรผิด  ก็ต้องไปดูที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งสรุปว่ากรณีกรรมการออกต้องไปจดแจ้ง ส่วนกรรมการสามารถยื่นหนังสือลาออกตามกฎหมายที่นายทักษิณ ชินวัตร เคยแก้ไว้เมื่อปี 2549 โดยขั้นตอนการจดทะเบียนทำได้ 2 วิธี คือเมื่อกรรมการลาออกแล้ว บริษัทจะต้องประชุม 2 แบบแบบที่ 1 เรียกประชุมกรรมการบริษัท แบบที่ 2 เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น    ซึ่งกรณีน.ส.ซาบีดา ได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 2 ก.ย. 2567 จากนั้นวันที่ 3 ก.ย 2567 ก็มาจด และเซ็นเอกสารแทบทุกหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสรุปมาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หมวดกรรมการซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 มาตรา

นายเรืองไกร กล่าวว่า ดังนั้นตนจึงมาร้องย้ำขอให้ กกต.ย้อนตรวจสอบกรณีน.ส.แพทองธารว่า การยื่นลาออกจากกรรมการนั้น ได้จดทะเบียนประชุมกรรมการบริษัท เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และขั้นตอนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุไว้หรือไม่ ทั้งนี้ ในท้ายของเอกสาร ข้อที่ 1 เขียนเอาไว้ชัด และเขียนคำเตือน ว่าผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 มาตรา 267 และ 268 ข้อ 2 นายทะเบียนอาจเพิกถอนการจดทะเบียน ถ้าปรากฏว่าข้อความอันเป็นสาระสำคัญที่ผู้จดทะเบียน ไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จ 


“หมายความว่าถ้าการขอจดทะเบียนของน.ส.ซาบีดา ถูกต้อง เทียบกับของน.ส.แพทองธาร ถูกหรือไม่ กกต.ก็ต้องไปถามนายทะเบียนหุ้นส่วน ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องเพิกถอน และถ้าเพิกถอน วันนี้ความเป็นกรรมการก็ยังอยู่ใช่หรือไม่ ถ้าความเป็นกรรมการยังอยู่ทั้ง 20 บริษัท ก็จะเข้าขายเป็นลูกจ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 เพราะฉะนั้นอยู่ที่กกต.จะรีบตรวจสอบดำเนินการหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายกระบวนการยุติธรรมมีการกำหนดระยะเวลาอยู่ วันนี้ผมคิดว่าข้อมูลน่าจะเพียงพอที่ท่านจะรีบสรุป ท่านจะตั้งอนุกรรมการ หรือ กรรมการไต่สวนอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำคือการถามไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตามสำเนาที่ผมส่งไปก่อนหน้านี้กว่าร้อยหน้า และของน.ส.ซาบีดา มายืนยัน  ผมว่าของผมครบถ้วน จะตัดแต่งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่ ท่านต้องยืนยันตรงนั้นและตรวจสอบต่อไป” นายเรืองไกร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีมีการแก้ไขหลังจากนั้น นายเรืองไกร กล่าวว่า การแก้ไขหลังมีข่าว นั่นแสดงว่าตั้งแต่วันที่เป็นนายก 16 ส.ค 2567 จนถึงวันที่แก้ไข ถือว่าเป็นกรรมการไปแล้วจะทำอย่างไร เป็นวันเดียวก็ผิด ที่ผ่านมามีการประชุมผู้ถือหุ้นมีการประชุมกรรมการหรือไม่ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเก่งๆ ทั้งนั้นมีส.สเป็นร้อยคนจบกฎหมายก็เยอะ นอกจากอภิปรายอวยกันในสภาแล้วไปอ่านกฎหมาย ซึ่งตนพูดถึงเฉพาะหมวดกรรมการ ซึ่งหากกระบวนการจดแจ้งวันที่ 15 ส.ค.แล้วไปจดแจ้งวันที่ 19 ส.ค.ไม่ชอบด้วยขั้นตอนของกฎหมาย เขาถึงเขียนข้างล่างว่า ให้นายทะเบียนเพิกถอน  ซึ่งหากตรวจสอบแล้ว เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.จนถึง 23 ก.ย. เป็นกรรมการอยู่ 20 บริษัท แล้วจะหลุดจากมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญ จะบอกว่าเป็นการยื่นเพิ่มเติมไม่ได้ เพราะการยื่นเพิ่มเติมหมายความว่าขาดตกบกพร่อง เช่นกรณีน.ส.ซาบีดา เซ็นเอกสารคู่กับนายปภณ แต่เซ็นต์อีกช่องหนึ่ง แบบนี้ถือเป็นกรณีผิดหลงได้ ไม่เป็นสาระไม่แก้ก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้มีหนังสือเชิญประชุม ไม่ได้ประชุมกรรมการและไม่ได้เซ็นเอกสาร ใน 20 บริษัทไม่มีลายเซ็นน.ส.แพทองธารเลย แต่น.ส.ซาบีดาเซ็นทุกหน้า ตรงนี้ต่างหากที่จะถามว่า ที่ถูกที่ผิดคืออะไร ไปแก้ไขให้ดี

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า  ตนมายื่นร้องเรียนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญมาตรา 41 และมาตรา 50 ไม่ได้ร้องเพราะปริมาณ ไม่ได้ร้องทุกวันไม่ได้ร้องเรื่องเล็กเรื่องน้อย แต่ร้องเรียนตามสิทธิ์และหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ จะผิดจะถูกอย่างไร ตนจะเคารพความเห็นขององค์กรอิสระ ของกกต. ของป.ป.ช. ของศาล จะไม่นำความเห็นของแต่ละคนที่ให้ตนร้องเรื่องนั้นเรื่องนี้ เพราะคนเหล่านั้นถ้าเห่งก็ไปร้องเองตามสิทธิ์ ตนไม่ได้รับจ้าง ไม่ใช่ลูกไล่ที่จะมาบอกให้ตนไปร้องเรียน ถ้าทำเท่ากับว่าตนขาดอิสระ รับจ้างร้อง ดังนั้นคนที่ชอบพูดให้สำเนียกไว้ด้วยว่าใช้สิทธิของตัวเอง ตนใช้สิทธิของตัวเองไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา น.ส.เกณิกา มีบทบาทเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และเคยเป็นผู้สมัคร สส.สระบุรี เขต 3 ในนามพรรคพลังประชารัฐ เมื่อการเลือกตั้ง ปี 66 อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ต้องจับตาการตัดสินใจจะทำงานการเมืองกับพรรคใดต่อไปหรือไม่