CEO กรุงไทย แนะเตรียมความพร้อมประเทศไทย สร้างโอกาสจากความท้าทายในอนาคต
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมงานฉลอง “60 YEAR OF EXCELLENCE” ของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Creating Great Leaders, Designing the Future” โดยเชิญ CEO องค์กรชั้นนำระดับประเทศ ผู้บริหารรุ่นใหม่ Startup พร้อมผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจระดับโลกกว่า 70 คน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ออกแบบอนาคตเพื่อขับเคลื่อนองค์กร และประเทศสู่ความเป็นเลิศ พร้อมร่วมเวทีเสวนา ในหัวข้อ “The Interpretation of Future Readiness” ร่วมกับ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และ CEO บริษัท ViaLink และกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา เพื่อร่วมตีโจทย์ความพร้อมประเทศไทย รับมือความท้าทายทางเศรษฐกิจ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายผยง ระบุว่า การเตรียมความพร้อมของประเทศในอนาคต (Future Readiness) ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ปัจจัยความท้าทายต่างๆ ในอนาคตว่ามีผลกระทบอย่างไร เพื่อนำมาสู่การวางแผนเตรียมความพร้อมในการมองหาโอกาสและรับมือกับความเสี่ยง ซึ่งประเทศไทยมีความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายนอก คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเทคโนโลยีดีสรัปชัน รวมถึงปัจจัยภายในประเทศที่ใกล้ตัวคือ ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจนอกระบบ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนการสั่งสมความเปราะบางในเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากไม่จัดการแก้ไขจะนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพในอนาคต จากมุมมอง World Economic Forum (WEF) ซึ่งประกอบด้วย 4 มิติ ได้แก่ นวัตกรรม ความครอบคลุมและทั่วถึง ความยั่งยืน และความยืดหยุ่นและความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง พบว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้สร้างนวัตกรรม และยังปรับใช้นวัตกรรมได้ไม่เต็มศักยภาพ ขณะที่การที่ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ถึงราว 50% ต่อจีดีพี สะท้อนการขาดแรงจูงใจให้เข้าระบบและปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึง (K-Shape) มีจำนวนผู้ประกอบการที่ยังติดอยู่ในส่วนของ K ขาล่าง มากกว่า K ขาบนอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ยังไม่สามารถยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการรายเล็กให้เติบโตไปกับรายใหญ่ตาม Mega–Trends ของโลก ที่เราไม่สามารถหลีกหนีได้ รวมถึงการขาดความยืดหยุ่นและขาดความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนและเรื่อง ESG
ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของประเทศที่พร้อมสำหรับอนาคต คือการมีข้อมูล หรือ Data Foundation ที่จะทำให้การวิเคราะห์และจัดการกับปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในยุค “Real-time Economy” การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนของสังคมรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง รู้เท่าทันอย่างมีสติ และเปิดกว้างให้เกิดการนำข้อมูลไปสร้างนวัตกรรม เกิดเป็น “Data Driven Economy” ที่นอกจากจะทำให้เกิดการเรียนรู้ สร้างทักษะที่สร้างปัญญาให้ประชากรและสังคมให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังสามารถสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจัดสรรทรัพยากรและสร้างแรงจูงใจในจุดที่ถูกต้อง เช่น การผันกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ การใช้ Negative Income Tax ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน และการแปลความหมายของข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ
“หากเปรียบความท้าทายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือเทคโนโลยีดิสรัปชัน เป็นคลื่นใหญ่ในมหาสมุทร และประเทศไทยกำลังโต้คลื่นที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ อยากให้มองว่าเรามีโอกาสที่จะอาศัยแรงของคลื่นในการก้าวข้ามข้อจำกัดในอดีต (leap frog) โดยมีภาครัฐเป็นประภาคาร (Lighthouse) ในการนำทางและเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วน จัดลำดับความสำคัญว่าเรื่องไหนทำก่อน ทำหลัง ดังเช่นนโยบายของรัฐบาลที่เพิ่งประกาศออกมา ที่มีทั้งนโยบายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีภาครัฐเป็นผู้ดูแล (Lifeguard) ให้เกิดความปลอดภัยและเท่าเทียมกันของผู้เล่นในตลาด โดยใช้ฐานข้อมูลในการออกแบบกฎกติกาและ Incentive รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ”