วันที่ 23 ก.ย.2547 ที่กกต. นายนิกร จำนง เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายประชามติ ว่า ขณะนี้กฎหมายพิจารณาทุกอย่างครบถ้วนหมดแล้ว ซึ่ง กมธ.วุฒิสภาก็ได้มีการเห็นชอบทุกถ้อยคำ และไม่ได้มีการแก้ไขใดๆเลย โดยในวันพุธที่ 25 ก.ย. นี้ จะมีการพิจารณาร่างสุดท้าย เพื่อที่จะสรุปรายงานแล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ในวันที่ 1 ต.ค. นี้ แต่หากไม่ทันก็สามารถจะขยับการเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาได้ พร้อมย้ำว่าประเด็นทั้งหมดไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใดๆ แต่มีการขอแปรญัตติใน 1 ประเด็น ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และได้มีการถกในชั้น กมธ. ในประเด็นนี้แล้วเช่นกัน
คือการให้มีวรรค 2 ในหลักการการทำประชามติทั่วไป จะต้องใช้เสียงข้างมากถือเป็นข้อยุติ แต่สิ่งที่แปรญัตติคือสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น ขอให้ใช้หลักการออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ ซึ่งหากเห็นชอบก็ต้องถูกตีกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร แล้วไปสอบถามสภาฯ ว่าเห็นด้วยตามเดิมหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยก็ต้องมีการโต้แย้งความเห็นของวุฒิสภา ดังนั้น ก็จำเป็นต้องตั้งกมธ.ร่วม ข้างละ 10 คน เพิ่งขึ้นมาพิจารณาอีกระยะหนึ่ง จากนั้นความเห็นของ กมธ.ร่วมเห็นเป็นอย่างไร แต่ละสภาฯ ต้องนำไปพิจารณากัน ถ้าสภาฯไหนไม่เห็นชอบ ก็ต้องถูกชะงักไว้ 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งหาก สส. เห็นชอบด้วยเสียงเอกฉันท์มาแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการไปกฏหมายและนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไปได้ แต่จะต้องหลัง 180 วันก่อน
นายนิกร กล่าวต่อว่า ต้องดูว่าในระยะนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นหรือไม่ แต่ประเด็นที่รออยู่ในขณะนี้คือ เบื้องต้น จะจัดทำประชามติไว้ในวันที่ 2 ก.พ. 2568 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้ง สจ. ทั่วประเทศด้วย โดยจะพ่วงการจัดทำประชามติร่วมกันไปเลย ดังนั้น ตนตั้งข้อสังเกตว่าจะทันการจัดทำประชามติครั้งแรกหรือไม่ ต้องรอดูต่อไป ส่วนกระบวนการของ สว.จะมีใบสั่งในการยื่นร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ ตนไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับการแปรญัตติแล้วที่ประชุมจะเห็นด้วยกับคำแปรญัตตินั้นหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยที่จะเเก้ในหลักการ ก็ต้องกลับมาสู่สภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นต้องรอดูอีกครั้ง
เมื่อถามว่าจะมีการกำหนดปฏิทินการจัดทำประชามติ นอกเหนือจากวันที่ 2 ก.พ. หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า หากไม่ทันในวันนี้ ก็ต้องจัดแบบเดี่ยวต่างหาก เนื่องจากวางไว้ในวันที่ 2 ก.พ. เพื่อให้ประชาชนสบายใจ แต่หากเลยวันที่ 2 ก.พ. จะรอวันที่เลือกตั้งทั่วไปอีก 3 ปีไม่ได้ จึงต้องกำหนดวันเอง และทำเฉพาะการออกเสียงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ซึ่งในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร หากพลาดวันที่ 2 ก.พ. พร้อมย้ำว่าหากเริ่มตั้งแต่วันนี้ก็ยังทัน หากวุฒิสภาไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการ ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะส่งผลต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แน่นอน อาจจะเสร็จไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้ ซึ่งยังถือว่าเป็นข้อกังวลอยู่ เพราะเหลือเวลาไม่ถึง 3 ปีแล้ว หากทันวันที่ 2 ก.พ. จะสามารถไปแก้ไขมาตรา 256 ได้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด
นายนิกร กล่าวถึงคำถามประชามติว่า ขณะนี้ยังเป็นคำถามเดิมที่จะท่านเห็นด้วยในการจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ทั้งนี้เป็นการผูกกับนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่เมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่แล้ว มติ ครม.นั้น อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้ โดยจะยืนตามคำถามเดิมหรือไม่ แม้ไม่ใช่เป็นมติ แต่ ครม. สามารถเอาความเห็นจากพรรคร่วมรัฐบาลมาวางคำถามประชามติก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ครม.ชุดใหม่ว่าจะมีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร ส่วนตัวยังไม่ทราบ
เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นปลีกย่อยจะมีขอบเขตอย่างไรที่ไม่ให้เป็นการแก้เพื่อเอื้อประโยชน์กับตัวเอง นายนิกร กล่าวว่า ในการแก้รายมาตรา ตนไม่ขอพูดถึง เพราะตนมีหน้าที่ทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และแก้ไขเรื่องการจะทำประชามติตามศาลเท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นที่จะมีขึ้นมา ขึ้นอยู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีรายมาตราไหน พรรคร่วมรัฐบาลก็จะไปหารือกันอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร ตนไม่ทราบว่าจะนำมารวมกับกฎหมายประชามติหรือไม่ แต่ตนขอทำเรื่องนี้ไปก่อน เพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก