การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต้อนรับการกลับมาของเส้นทางบินตรง (Direct Flight)ของสายการบิน Condor หลังจากหยุดทำการบินไปตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเที่ยวบินแรกของเส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ เที่ยวบินที่ DE2362 ออกเดินทางออกจากนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในวันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 11.25 น. โอกาสนี้ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ททท. และนางจิระวดี คุณทรัพย์ ผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรป ททท. ร่วมให้การต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินตรง (Direct Flight) ของสายการบิน Condor หลังจากวิกฤตโควิด-19 นับเป็นสัญญาณที่ดีในการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยของตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูและขยายฐานตลาด รวมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้บริการ 2 เส้นทางบิน สำหรับเที่ยวบินแรกของเส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ เที่ยวบินที่ DE2362 บินตรงจากนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เวลา 19.00 น. ความจุผู้โดยสาร จำนวน 310 ที่นั่ง ใช้เวลาเดินทางรวม 11 ชั่วโมง ก่อนเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ในวันที่ 23 กันยายน 2567 เวลา 11.25 น. และในเส้นทางบินตรง นครแฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ด้วยเที่ยวบินแรก DE2368 เดินทางออกจากนครแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในวันที่ 21 กันยายน 2567 เวลา 15.10 น. และเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ประเทศไทย ในวันที่ 22 กันยายน 2567 เวลา 08.00 น.
ทั้งนี้ ผู้บริหาร ททท. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมต้อนรับและส่งมอบบรรยากาศแห่งความประทับใจทันทีที่เครื่องบินเดินทางถึงประเทศไทยด้วยการมอบของที่ระลึกแก่คณะนักท่องเที่ยว เพื่อแสดงมิตรไมตรีและสร้างความเชื่อมั่นแบรนด์ Amazing Thailand ตอกย้ำให้ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในใจของนักท่องเที่ยว
ในปัจจุบันสายการบิน Condor เป็นสายการบินสัญชาติเยอรมันสายการบินเดียวที่เปิดให้บริการเส้นทางบินตรงสู่ประเทศไทย โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป จะทำการบินตรงสู่ประเทศไทย ใน 2 จุดหมายปลายทางหลัก ได้แก่ เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต-กรุงเทพฯ ความถี่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการ 22 กันยายน 2567 เป็นต้นไป และ แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต ความถี่ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มให้บริการ 21 กันยายน 2567 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำการบินด้วยเครื่องบิน Airbus A330neo ความจุผู้โดยสาร 310 ที่นั่ง แบ่งเป็น 3 ชั้นโดยสาร ได้แก่ ชั้นธุรกิจ (30 ที่นั่ง) ชั้นประหยัดพรีเมียม (64 ที่นั่ง) และชั้นประหยัด (216 ที่นั่ง)
สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเป็นตลาดศักยภาพ มีอัตราการเติบโตที่มีนัยสำคัญต่อการฟื้นตลาดระยะไกล มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่ 14 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย และสูงเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคยุโรป รองจากรัสเซีย และสหราชอาณาจักร จากสถิติพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเยอรมนี ปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 729,163 คน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 43,180 ล้านบาท และในปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 กันยายน 2567 มีนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว 569,277 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เคยเดินทางมาประเทศไทย (Re-visit) ทั้งกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มครอบครัว และนิยมเดินทางด้วยตนเองสูงถึงร้อยละ 60 โดยจะนิยมเดินทางมาประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวของเยอรมนีมากที่สุด ได้แก่ เดือนมกราคม-มีนาคม และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ชื่อนชอบท่องเที่ยวหาดทรายชายทะเล สุขภาพและความงาม (Health & Wellness) ตลอดจนให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism) ทั้งนี้ ททท. คาดการณ์ว่าจะจำนวนมีนักท่องเที่ยวเยอรมนีเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดปี 2567 กว่า 979,000 คน และสร้างรายได้รวม 65,000 ล้านบาท