เมื่อวันที่ 20 ก.ย.67 นายธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นประธานเปิดงานวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ ประจำปี 2567 ณ ท่าจอดเรือ ริเวอร์เดล มารีน่า จังหวัดปทุมธานี ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย
1) การเสวนาการอนุรักษ์และบริหารจัดการน้ำ หัวข้อ “บทบาทของชุมชนกับการอนุรักษ์และ พัฒนาแม่น้ำ คู คลอง” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว นายสมศักดิ์ สันธินาค ประธานเครือข่าย ทสม.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายพิพัฒน์ เรืองงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและประสานมวลชน กองอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
2) การจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นิทรรศการอนุรักษ์และพัฒนา
แม่น้ำ คู คลอง รวมถึงนิทรรศการจากหน่วยงานร่วมจัด ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ เพื่อสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า
3) กิจกรรมจิตอาสา ได้แก่ การปล่อยพันธุ์ปลา และการแยกขยะ
4) การมอบรางวัลการประกวด Viral Clip หัวข้อ “คืนน้ำใสให้ชุมชน” เพื่อปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนร่วมมือกัน ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำคูคลอง และช่วยกันดูแลให้ใสสะอาด เนื่องใน “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ ประจำปี 2567” โดยมีเงินรางวัลรวมทั้งสิ้นกว่า 22,000 บาท พร้อมรับเกียรติบัตร
5) การจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นจากชุมชนชาวบางกะดีนายธีระชุณ บุญสิทธิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประพาสทางชลมารค เพื่อตรวจสภาพคลองแสนแสบและเยี่ยมเยียนประชาชนสองฝั่งคลองจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นระยะทางกว่า 72 กิโลเมตร ซึ่งยังความปลื้มปิติแก่พสกนิกรอย่างถ้วนหน้า เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบ กำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ เพื่อรณรงค์และเสริมสร้างจิตสำนึกด้านการรู้คุณค่าของแม่น้ำคูคลอง ให้แก่ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แม่น้ำ คู คลอง เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่สำคัญของประเทศ ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งน้ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งกำเนิดของการเกษตร และเป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้ำและคลอง แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้วิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ คู คลองที่เคยเป็นหลัก ปัจจุบันกลับเป็นถนนหนทาง ส่งผลให้แม่น้ำ คู คลอง หลายสายไม่ได้รับการเหลียวแล กลายเป็นเพียงแหล่งรองรับน้ำเสียและของเสียจากบ้านเรือนและโรงงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ทัศนียภาพที่เคยงดงามตามธรรมชาติก็สูญหายไป
เนื่องใน “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ ประจำปี 2567“ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนหันมาสนใจและใส่ใจแม่น้ำคูคลอง เพราะเราทุกคนต่างก็มีบทบาทสำคัญในการร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ช่วยกันเก็บขยะในแม่น้ำคูคลอง การบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ ตลอดจนการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำคูคลอง เมื่อทุกคนร่วมมือกันก็จะช่วยให้แม่น้ำคูคลองใสสะอาด กลับมามีชีวิตชีวาเหมือนในอดีต และเป็นสายน้ำแห่งชีวิตของเราทุกคนสืบต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน