พระมหากรุณาธิคุณ ...“จิตรลดา 3” และ “จิตรลดา 4” จากปลานิลพันธุ์พระราชทานสู่พันธุ์ปลาเพื่อการเพาะเลี้ยงทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่ราคาย่อมเยา หากยังสามารถเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ดังเช่น ปลานิลที่กรมประมงได้ทำการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ และตั้งชื่อพันธุ์ว่า “จิตรลดา 3” และ “จิตรลดา 4” ปลานิล มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis niloticus (Linn.) โดยที่มาของชื่อชนิด niloticus นี้ มาจากคำว่า Nile หรือ แม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของปลาชนิดนี้ ปลานิลถูกนำเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอิสริยยศ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้ทรงจัดส่งมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 และต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาไทยว่า "ปลานิล" ซึ่งมีความหมายว่ามีสีดำ หรือ สีนิล โดยออกเสียง nil ตามพยางค์ต้นของชื่อชนิด niloticus นั่นเอง ในระยะแรกพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปล่อยปลานิลลงเลี้ยงในบ่อภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดา เพื่อทรงทดลองเลี้ยงและให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโต และศึกษาด้านชีววิทยาของปลานิลเป็นประจำ จนเมื่อทรงเห็นว่าสามารถเลี้ยงได้ผลดี ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายพันธุ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ราษฎรเลี้ยงต่อไป นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ด้วยพระวิสัยทัศน์กว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ต้องการให้ประชาชนชาวไทยมีการกินดีอยู่ดี มีแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูกไว้รับประทาน โดยเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานลูกพันธุ์ปลานิลความยาว 3 – 5 เซนติเมตร จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมง เพื่อนำไปขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง ในบริเวณเกษตรกลาง บางเขน กรุงเทพฯ และสถานีประมงต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อทำการขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้กับราษฎรผู้สนใจนำไปเลี้ยง ซึ่งในเวลาต่อมาได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกในนาม “Chitralada tilapia” หรือ “ปลานิลจิตรลดา” ที่คนไทยรู้จักนั่นเอง ต่อมากรมประมงโดยกองวิจัยและพัฒนาและพันธุกรรมสัตว์น้ำได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ปลานิล โดยเริ่มต้นจากสายพันธุ์จิตรลดาในระยะแรก และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ปลานิลพันธุ์ปรับปรุงที่มีลักษณะดีเป็นที่ต้องการของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอย่างมาก ดร. พนม กระจ่างพจน์ สอดศุข รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กล่าวว่า กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญของปลานิลต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย จึงได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ปลานิลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ปลานิลที่มีลักษณะดี มีการเจริญเติบโตดีขึ้น ให้ผลผลิตและอัตราการรอดตายสูง ปัจจุบันมีพันธุ์ปลานิลที่ผ่านการปรับปรุงและทดสอบพันธุ์ โดยมีกระแสตอบรับที่ดี มีความต้องการอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการผลิตและกระจายพันธุ์สู่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง ได้แก่ ปลานิลพันธุ์ปรับปรุงที่ได้รับการตั้งชื่อพันธุ์ว่า “จิตรลดา 3” และ “จิตรลดา 4” ซึ่งมีรายละเอียดการปรับปรุงพันธุ์และข้อมูลประจำพันธุ์ ดังนี้ “จิตรลดา 3” เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยปรับปรุงจากปลานิลสายพันธุ์ GIFT (Genetic Improvement of Farmed Tilapia) รุ่นที่ 5 ของหน่วยงาน International Center for Living Aquatic Resource Management (ICLARM) ประเทศฟิลิปปินส์ (ซึ่งมีสายพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิมผสมอยู่ด้วย) “จิตรลดา 3” ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ (Mass Selection) เพื่อให้มีการเจริญเติบโตดี มีอัตรารอดและให้ผลผลิตสูง มีลักษณะเด่น คือ หัวเล็ก ตัวหนา เนื้อแน่นและมาก ปัจจุบันหน่วยงานหลักที่ทำการผลิตพันธุ์ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำในสังกัดกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ 4 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร “จิตรลดา 4” เป็นพันธุ์ปลานิลที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2552 โดยปรับปรุงจากปลานิลสายพันธุ์ GIFT รุ่นที่ 9 จาก WorldFish Center ประเทศมาเลเซีย (ซึ่งมีสายพันธุ์จิตรลดาดั้งเดิมผสมอยู่ด้วยเช่นกัน) “จิตรลดา 4” ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการประเมินจากค่าการผสมพันธุ์ (Estimated Breeding Value, EBV) ของน้ำหนัก เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง มีลักษณะเด่น คือ ส่วนหัวเล็ก ลำตัวกว้าง สันหนา หน่วยงานที่ผลิตพันธุ์ในปัจจุบัน คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำปทุมธานี ในสังกัดกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ จากวันนั้นสู่วันนี้ ครบรอบ 50 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานปลานิลให้กับปวงชนชาวไทย ปัจจุบันมีฟาร์มปลานิลมากกว่า 300,000 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็นผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงแต่ละปีมากกว่า 200,000 ตัน สร้างอาชีพให้คนเป็นล้านคน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และกลายเป็นปลาเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โทร. 0 2904 7604, 0 2904 7805 และ 0 2904 7446 โทรสาร 0 2577 5061 ¤