นายกฯ เร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย ช่วยเยียวยาก้อนแรกเหยื่อน้ำท่วมตามเกณฑ์ ส่วนรอบสองรอ ศปช.เคาะหลักเกณฑ์ใหม่ ยันเตรียมหลายแผนกระตุ้นเศรษฐกิจหลังน้ำลด ด้านนิด้าโพลเผยคนกรุงค่อนข้างกังวลน้ำท่วมกรุง แต่มั่นใจกทม.เอาอยู่ 

     เมื่อวันที่ 22 ก.ย.67 เวลา 09.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บ.น.6) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ,นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทา(ปภ.), นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และพล.อ.ธีระยุทธ จินหิรัญ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทบ.)เป็นผู้แทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)ให้การต้อนรับ
    
 ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ได้กล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่จะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจฟื้นฟูที่จ.เชียงราย พร้อมส่งมอบสิ่งของบริจาค สิ่งของอุปโภค-บริโภค ที่ได้รับจากภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆจากโครงการ ประสานพลัง ประสานใจ รวมถึงสิ่งของบริจาคจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัย สำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ทั้งนี้ นายกฯ ได้นำอุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งใช้ในการทำความสะอาดภายหลังน้ำลด และเสื้อผ้าเด็กมาบริจาคส่วนตัวด้วย ประกอบด้วย ไม้กวาดทางมะพร้าว 100 อัน จอบ 100 เล่ม พลั่ว 100 เล่ม ถังน้ำ 100 ใบ บุ้งกี๋ 100 ใบ แปรงถูพื้นสั้น 100 อัน แปลงถูพื้นยาว100 อัน และเสื้อผ้าลูกสาว 6 ลัง เพื่อนำส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย โดยเครื่องบินกองทัพอากาศ (C130) โดยปลัดสปน. รายงานเรื่องเงินบริจาคกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และสิ่งของในการช่วยเหลือด้วย
   
  โดย นายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้นำของส่วนตัวมาบริจาค ซึ่งช่วงวันหยุดที่ผ่านมาได้ให้ลูกช่วยกันเลือกเสื้อผ้าที่เล็กไปแล้ว นำมาบริจาค ซึ่งจากที่ตนลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ผ่านมา ก็เห็นเด็กเล็ก ขาดแคลนเสื้อก็คิดว่าน่าจะจำเป็น รวมถึงของใช้จำเป็นอื่นๆ ด้วย ในส่วนของท่อใหญ่ที่เป็นส่วนกลางจะต้องเคลียร์ท่อก่อน เพื่อให้น้ำระบายได้เพราะมีดินโคลนที่เข้าไปอุดตัน ส่วนเรื่องของบ้านเรือนประชาชนก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปแล้ว ซึ่งจะมีการแบ่งแต่ละภาคส่วนว่ามีใครทำตรงไหนบ้าง เพื่อกระจายความช่วยเหลือเพื่อให้ทั่วถึงที่สุด
   
  เมื่อถามว่า ได้มีการตั้งกรอบเวลาในการกำจัดดินโคลนให้แล้วเสร็จหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อยากให้เร็วที่สุด ไม่อยากที่จะสัญญา เพราะต้องดูหน้างานอีกครั้ง แต่ก็จะพยายามให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นความเดือดร้อนจริงๆ ทั้งนี้ผบ.ทสส.ได้รับพระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 100 เครื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี ซึ่งเครื่องนี้ใช้ได้ดีมาก โดยนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆที่มีดินโคลนติดแข็งกรัง
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการเคลียร์เส้นทางที่ถูกตัดขาด ที่ทำให้ประชาชนบนเขาเดือนร้อนแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า เคลียร์แล้ว และส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือแล้ว เมื่อถามว่า ได้มีการฟื้นฟูเรื่องอื่นๆด้วยหรือไม่ หรือทำเฉพาะเรื่องดินโคลนอย่างเดียว นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้การกำจัดดินโคลนต้องเร็วที่สุด เพราะถ้ารอโคลนจะแห้ง ทำให้กำจัดยากกว่าเดิม ซึ่งเราไม่ได้มีการขอกำลังเพิ่ม เนื่องจากต้องเตรียมไว้รับมือหากมีพายุเข้ามาจะได้ช่วยเหลือประชาชนได้ทัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในจ.เชียงรายก็ยังไม่ได้ให้ออกจากพื้นที่ เพื่อคอยช่วยเหลือมอนิเตอร์ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้วอย่างไรบ้าง ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่ตั้งขึ้นมาก็ได้มีการประชุมกันทุกวัน
    
 เมื่อถามว่า ในส่วนของการเยียวยามีการปรับหลักเกณฑ์หรือไม่ เนื่องจากมีบ้านบางหลังมีมูลความเสียหายหลักล้านบาท นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการเยียวยาเรามีหลักเกณฑ์การเยียวยาบ้านที่เสียหาย 2 แสน 3 หมื่นบาท ซึ่งจะมีการพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง เบื้องต้นจะต้องได้เงินเยียวยาในเรื่องดังกล่าวก่อน จึงจะมีการพิจารณาเพิ่มเงินเยียวยาอีกครั้ง เมื่อถามต่อว่า เงินเยียวยากรอบแรกเริ่มจ่ายไปแล้วหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้เรารอการสำรวจคอนเฟิร์มกลับมา ก็จะทยอยเริ่มจ่ายเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์เดิมถึงมือประชาชน 
   
  ขณะที่ นายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า ตอนนี้ได้ให้มีการประเมินเบื้องต้นว่ามีความเสียหายอย่างไร ซึ่งเราก็จะใช้หลักเกณฑ์การเยียวยาเดิมไปก่อน ขณะที่คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) กำลังพูดคุยเรื่องหลักเกณฑ์และจะปรับหลักเกณฑ์ เพื่อเพิ่มเงินเยียวยาให้ เพราะตัวหลักเกณฑ์เดิมใช้มานานแล้ว
   
  เมื่อถามว่า เงินเยียวยาก้อนแรกจะเป็นหลักเกณฑ์เดิมและก้อนที่ 2 จะเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำลังปรับปรุงอยู่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่คะ ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ยังไม่จบ ต้องรอเคาะก้อนแรกก่อน จริงๆสิ่งที่เน้นย้ำคือความรวดเร็ว เพราะมันทุกข์ทุกวัน ความทุกข์นับเป็นวันๆ เป็นชั่วโมง เราพยายามผลักดันออกไปให้โดยเร็วที่สุด ในทุกๆมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนช่วยเหลือ เครื่องมือ โรงครัว ต้องบรรเทาให้เร็วที่สุด เพราะเรื่องภัยธรรมชาติต้องสแตนบายกันไว้
    
 เมื่อถามว่า กรอบการจ่ายเงินเยียวยาหลักเกณฑ์ใหม่จะได้ความชัดเจนเมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า เดี๋ยวขอใกล้กว่านี้ดีกว่า ยังไม่ได้พูดคุยกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งบ่ายวันที่ 23 ก.ย.นี้จะประชุมเรื่องนี้

เมื่อถามต่อว่า หลักเกณฑ์เยียวยาประชาชนในพื้นที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดประสบอุทกภัยอย่างไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน อย่างแรกเลยได้คุยกับรมว.พาณิชย์ไว้ให้ตรึงเรื่องราคาสินค้าให้ดี เพราะพอมีวิกฤติราคาสินค้าแพงหมด ชาวบ้านก็ไม่ไหว ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ไป ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจมีแน่นอน มีการพูดคุยกันเรื่องแผนของการท่องเที่ยว และได้เตรียมทยอยทำไว้อีกมาก แต่ตอนนี้เอาเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาให้สำเร็จชัดเจนก่อน
    
 เมื่อถามอีกว่า ขณะนี้มีกระแสว่ารถรับจ้างขุดดิน มีการเพิ่มราคาค่าจ้าง นายกฯ กล่าวว่า เราประชาสัมพันธ์ดีกว่าว่า เอกชนหรือใครที่อยากจะช่วยพี่น้องชาวเชียงรายอย่างไรยิ่งเยอะก็ยิ่งเร็ว เพราะฉะนั้นเอาคนที่มีจิตอาสา อยากทำก่อนดีกว่า อันไหนที่เป็นเรื่องธุรกิจของใคร ขอไม่ไปก้าวก่ายเขาดีกว่า ตรงนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ใครอยากอาสามาช่วย เราก็เปิดรับ ยินดีมากๆ อย่างวันนี้เรื่องของอาหารของแห้งทุกอย่างที่มา ที่มีการบริจาคที่ทำเนียบรัฐบาลก็พร้อมนำส่งพี่น้องประชาชนแล้ว ส่วนเรื่องสิ่งของบริจาคบางทีอาจจะคิดว่าทำไมให้ของแห้ง เพราะเรามีโรงครัวอยู่แล้ว ณ ที่นั้น ทำอาหารสดใหม่ทุกวัน หลังจากนี้การซื้อขายก็ยาก ของแห้งเก็บไว้ได้เป็นทุนที่ช่วยประชาชนหลังฟื้นตัว ก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนจริงๆ
    
 ด้าน นายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า การฟื้นฟูพื้นที่น้ำท่วม เราจะมีการแบ่งเป็นโซน ให้แต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งตอนนี้เรามีกำลังเจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวง กำลังพลจากนทพ. และเจ้าหน้าที่ปภ. ที่มีเครื่องมือหนักเข้าไปดำเนินการ ส่วนเรื่องการกำจัดดินโคลนนั้น ขณะนี้เรากำลังเติมกำลังคนทั้งจากกรมราชทัณฑ์ ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครตามหมู่บ้าน ทั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่จะระดมคนเข้ามา และส่วนกลางจะมีการเติมกำลังพลทหารและส่วนต่างๆเข้าไป เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักที่นายกฯบัญชาการลงมา เราจะต้องทำให้เสร็จ
   
  นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ในส่วนของกองทัพบกได้ใช้ภายในค่ายเม็งรายมหาราช มณฑลทหารบกที่ 37 อ.เมืองเชียงราย เป็นจุดที่ทิ้งสิ่งของขนาดใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สำรวจพื้นที่ตำบลป่าก่อดำ อ.แม่ลาว ประมาณ 50 ไร่ เพื่อเป็นจุดพักกองขยะน้ำท่วมชั่วคราว เพิ่มเติม ส่วนขยะที่เป็นมลพิษอธิบดีกรมควบคุมมลพิษก็เข้าไปดู เพื่อไม่ให้สิ่งที่เป็นพิษเข้าไปฝังอยู่ในดินเพราะจะมีผลในอนาคต ทั้งนี้ ในวัน 24 ก.ย. จะมีการเรียกประชุมผู้ว่าทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าใจหลักเกณฑ์เหล่านี้
   
  วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง ปี 67 คนกรุงฯ กลัวน้ำท่วมหรือไม่ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความกังวลของคนกรุงเทพมหานครต่อสถานการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ.2567
    
 จากการสำรวจเมื่อถามความกังวลของประชาชนว่าจะเกิดน้ำท่วมกรุงเทพมหานครในปีนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 33.82 ระบุว่าค่อนข้างกังวล รองลงมา ร้อยละ 27.79 ระบุว่า ไม่กังวลเลย ร้อยละ 21.06 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 17.33 ระบุว่ากังวลมาก
    
 ด้านความพึงพอใจของประชาชนต่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครในช่วงฤดูฝนนี้ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 42.14 ระบุว่า ค่อนข้างพึงพอใจ รองลงมาร้อยละ 28.09 ระบุว่า ไม่ค่อยพึงพอใจ ร้อยละ 17.79 ระบุว่าพึงพอใจมาก ร้อยละ 10.38 ระบุว่าไม่พึงพอใจเลย และร้อยละ 1.60 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
    
 ท้ายที่สุด เมื่อถามความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.25 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 32.29 ระบุว่าไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 15.65 ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 14.05 ระบุว่าเชื่อมั่นมาก และร้อยละ 0.76 ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
อุตุฯ เตือนร่องมรสุมแรงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่า ดินถล่ม