"มะเร็งกล้ามเนื้อ"  เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก แต่พบน้อย  พบในทุกอายุ ทั้ง2 เพศ และมีหลากหลายชนิดย่อย บางชนิดพบบ่อยในเด็ก บางชนิดพบในผู้ใหญ่

มะเร็งกล้ามเนื้อ  หรือ โรคมะเร็งกล้ามเนื้อ (Muscle tissue cancer) คือโรคที่เกิดจากเซลล์/เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อมัดใดก็ได้เกิดกลายพันธ์เจริญเติบโต แบ่งตัว รวดเร็วผิดปกติที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จนเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็ง คือ ก้อนเนื้อที่เซลล์รุกราน/ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อนั้นๆจนสูญเสียการทำงาน ลุกลามทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อข้างเคียง กระดูก ลุกลามเข้าทำลายต่อมน้ำเหลือง และในที่สุดจะแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วตัว และ/หรือรุกรานเข้ากระแสโลหิต/เลือดเข้าลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ปอด 

 

อนึ่ง กล้ามเนื้อ(Muscle) จัดเป็นเนื้อเยื่อกลุ่มเนื้อเยื่ออ่อน ดังนั้นจึงจัดอยู่ในมะเร็ง มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน โดยเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อประกอบด้วย เนื้อเยื่อตัวกล้ามเนื้อเอง เนื้อเยื่อเอ็นกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อพังผืด(Fibrous tissue, เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มกล้ามเนื้อ) ซึ่งทุกชนิดพบเกิดเป็นมะเร็งได้

เนื้อเยื่อตัวกล้ามเนื้อ แบ่งเป็น 3 ประเภท 

1. กล้ามเนื้อลาย(Striated muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ติดกับกระดูก ทำงานร่วมกับกระดูก(จึงเรียกอีกชื่อว่า Skeletal muscle)เพื่อการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะ แขน ขา มือ นิ้ว เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงาน/เคลื่อนไหวตามคำสั่งของสมอง จึงมีอีกชื่อว่า ‘Voluntary muscle’ เป็นกล้ามเนื้อที่คิดเป็นประมาณ36%ของกล้ามเนื้อทั้งหมดในผู้หญิง แต่ประมาณ42%ในผู้ชาย

2. กล้ามเนื้อเรียบ(Smooth muscle) เป็นกล้ามเนื้อของผนังอวัยวะภายในทั้งหมด(จึงมีอีกชื่อว่า Visceral muscle)โดยเฉพาะอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ ผนังมดลูก เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงาน/เคลื่อนไหวโดยประสาทอัตโนมัติ จิตใจ/สมองไม่สามารถควบคุมการทำงานของมันได้ เช่น การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เป็นต้น จึงมีอีกชื่อว่า ‘Involuntary muscle’

3. กล้ามเนื้อหัวใจ(Cardiac muscle)เป็นกล้ามเนื้อในกลุ่มกล้ามเนื้อเรียบ แต่มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อลายด้วย เป็นกล้ามเนื้อที่มีการบีบตัวโดยอัตโนมัติเช่นกัน และเป็นชนิดมีอยู่เฉพาะที่หัวใจ

 

มะเร็งกล้ามเนื้อมีกี่ชนิด?

เนื้อเยื่อในกลุ่มกล้ามเนื้อทุกชนิด เกิดเป็นมะเร็งได้ทุกชนิดในทั้ง 2 เพศ และมีหลากหลายชนิดย่อย อย่างไรก็ตาม ทุกชนิดเป็นโรคพบยาก โดยมะเร็งกล้ามเนื้อชนิดพบบ่อยกว่าชนิดอื่นๆ แต่ก็ยังเป็นชนิดพบน้อย ได้แก่

1. มะเร็งกล้ามเนื้อลาย เป็นมะเร็งพบในทุกอายุ แต่มักพบในเด็ก โดยใน สหรัฐอเมริกามีรายงานพบได้ปีละประมาณ 4.4 รายต่อประชากรเด็ก 1 ล้านคน แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกล้ามเนื้อลาย’

2. มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ เป็นมะเร็งพบในทุกอายุ แต่ทั่วไปพบในผู้ใหญ่ มีหลากหลายชนิดย่อย จึงยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวมที่ชัดเจนเพราะมักแยกรายงานในแต่ละชนิดย่อย แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ’

3. มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นโรคพบทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆในเด็ก ทั่วไปเป็นโรคของผู้ใหญ่ แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ’

4 . เนื้องอกเดสมอยด์(Desmoid tumor) เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่อพังผืดที่ประกอบเป็นเอ็นกล้ามเนื้อ เป็นโรคพบทุกอายุ แต่เกือบทั้งหมดพบในผู้ใหญ่ พบเป็นประมาณ0.03%ของเนื้องอกทั้งหมด เป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงคือมีพันธุกรรมถ่ายทอดได้ที่เรียกว่า Familial adenomatous polyposis (FAP)ซึ่งผู้ป่วยมีพันธุกรรมนี้มักมีปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย เป็นโรคพบน้อย ทั่วโลกพบโรคเดสมอยด์นี้ได้ประมาณ 1-2รายต่อประชากร 5แสนคน

5. Malignant fibrous histiocytoma ย่อว่า MFH เป็นโรคพบทุกอายุ แต่เกือบทั้งหมดพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มักเกิดที่กล้ามเนื้อของ แขน ขา พบเป็นประมาณ 23%ของมะเร็งกล้ามเนื้อทั้งหมด เป็นมะเร็งมีการพยากรณ์โรคไม่ดี โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตได้เร็ว และมักแพร่กระจายสู่ปอด

6. Myxofibrosarcoma เป็นโรคพบในผู้ใหญ่เกือบทั้งหมด มักพบที่ แขน ขา เช่นกัน เป็นมะเร็งที่โตช้า มักมีการย้อนกลับเป็นซ้ำสูงหลังผ่าตัด และยังสามารถกลายพันธ์เป็นชนิดมีการแบ่งตัวสูงที่จะมีการพยากรณ์โรคไม่ดี จะแพร่กระจายทางกระแสโลหิตสูง มักเข้าสู่ปอด และกระดูก และยังลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูงด้วย

7. Fibrosarcoma พบในทุกอายุ แต่มักพบในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ มักเกิดบนรอยแผลเป็น หรือที่เนื้อเยื่อเอ็นกล้ามเนื้อ พบได้บ่อยที่ แขน ขา ลำตัว และศีรษะ นอกจากนั้นยังพบเกิดในอวัยวะภายในต่างๆได้ เช่น รังไข่ ท่อลม

 

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อมีอาการอย่างไร?

อาการหลักของโรคมะเร็งกล้ามเนื้อคือ มีก้อนเนื้อที่โตเร็วโดยเริ่มแรกไม่มีอาการเจ็บปวด  แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น อาการที่พบได้คือ

- ปวด/เจ็บที่ก้อนเนื้อ

- ก้อนเนื้ออาจแตกเป็นแผลเรื้อรัง แผลอาจติดเชื้อ และมักมีเลือดออกเรื้อรัง

- การเคลื่อนไหวของอวัยวะที่เกิดโรคมีขีดจำกัด เช่น เดินลำบากกรณีมะเร็งกล้ามเนื้อลาย ลำไส้อุดตัน หรือทางเดินปัสสาวะอุดตันจากก้อนเนื้อกรณีมะเร็งกล้ามเนื้อเรียบ

- กรณีมะเร็งกล้ามเนื้อหัวใจ อาการคือ อาการของโรคหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย เป็นลมบ่อย หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ บวมเนื้อตัว แขน ขา จนถึงอาการของหัวใจวาย

- มีต่อมน้ำเหลืองใกล้กล้ามเนื้อที่เป็นมะเร็งโต คลำได้

 

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งกล้ามเนื้อได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งกล้ามเนื้อได้จาก  การสอบถาม/ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ,  การตรวจคลำก้อนเนื้อ, การตรวจร่างกาย, การตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง  และที่ได้ผลแน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือถ้าก้อนขนาดเล็ก ก็จะผ่าก้อนนั้นออกทั้งก้อนและนำไปตรวจทางพยาธิวิทยา

ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อประเมินสุขภาพผู้ป่วยและระยะโรค เช่น  การตรวจเลือดซีบีซี, การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเลือด เช่น ดูการเป็นเบาหวาน ดูการทำงานของตับ และดูการทำงานของไต, การตรวจภาพก้อนเนื้อด้วยเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ

อนึ่ง ทั่วไปมะเร็งกล้ามเนื้อ เป็นเซลล์มะเร็งที่ไม่สร้างสารมะเร็ง แพทย์จึงไม่มีการตรวจหาสารมะเร็ง 

 

โรคมะเร็งกล้ามเนื้อมีวิธีรักษาอย่างไร?

วิธีรักษาหลักของมะเร็งกล้ามเนื้อ คือ ‘การผ่าตัด’

ส่วนรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณารักษาในผู้ป่วยเป็นรายๆไป เพราะเซลล์มะเร็งกล้ามเนื้อ ทั่วไปมักตอบสนองได้ไม่ดีทั้งต่อรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด

ส่วน ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง มีการรักษาที่ได้ผลเฉพาะในมะเร็งกล้ามเนื้อบางชนิด เช่น เนื้องอกจีสต์ ส่วนชนิดอื่นๆยังอยู่ในการศึกษา

นอกจากนั้น มะเร็งกล้ามเนื้อบางชนิด (เช่น มะเร็งกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก/มะเร็งซาร์โคมามดลูก) จะมีตัวรับ(Receptor)ที่สามารถจับฮอร์โมนเพศหญิง(Hormone receptor ย่อว่า HR)ได้ ซึ่งถ้าเซลล์จับฮอร์โมนฯได้เรียกว่า HR+ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีรายงานว่า

สามารถใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศฯรักษาควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่ง เช่น ยา Tamoxifen, Letrozole แต่ยากลุ่มนี้ใช้ ไม่ได้ผล ในผู้ป่วยที่ ไม่มีตัวรับฮอร์โมนฯ(HR-)

*อนึ่ง HR ตรวจได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนมะเร็งด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

ขอบคุณข้อมูล หาหมอ.com