เรียกว่าเป็น “วิกฤติ” ซ้อน “วิกฤติ” เมื่อมวลน้ำมหาศาลถาโถมเข้ามาภาคเหนือของไทย “รับน้อง” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ท้าทายภาวะผู้นำ DNA

ในบรรยากาศการเมืองที่กรุ่นควัน “นิติสงคราม” จากแผลสดที่ พรรคเพื่อไทย เพิ่งเสีย “ไพ่ในมือ” อย่าง “เสี่ยนิด”เศรษฐา ทวีสิน มีอันต้องตกเก้าอี้ไปก่อนเวลาอันควร จากเดิมที่วางไทม์ไลน์เอาไว้ให้นั่งคุมบังเหียนบนตึกไทยคู่ฟ้าไป 3 ปีก่อนแล้วค่อยส่งไม้ต่อให้นายกฯอิ๊งค์ลงสนามทำคะแนนในปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง

แต่ “เศรษฐา” ต้องมาประสบภัยศาลรัฐธรรมนูญ ถูกชี้ขาดจริยธรรม แถมถูกตามมาซ้ำดาบสองร้องเพิกถอนสิทธิการเมืองตลอดชีวิต  แค่หนังตัวอย่างก็หลอนจนส่งผลให้ ทีมพี่เลี้ยง “นายกฯอิ๊งค์” ตั้งการ์ดสูง  ระวังตัวกลัวจะ “ตายน้ำตื้น” ถูกนักร้องสอยหล่นเก้าอี้ จะขยับอะไรแต่ละก้าวแต่ละที จึงต้องมีกฎหมายกำกับ จนออกอาการ “ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก”!!

นั่นจึงทำให้ไม่ได้เห็นภาพ “นารีขี่ม้าลุยน้ำท่วม” พลิกวิกฤติเป็นโอกาสโกยคะแนน เฉกเช่นที่ “อัศวินสึนามิ” ผู้พ่อ ทักษิณ ชินวัตร เคยรับมือวิกฤติภัยพิบัติคลื่นยักษ์ถล่มไทย ด้วยความรวดเร็วฉับไวและเป็นระบบเมื่อปี 2547

เสียงบ่น ปนเสียงด่า ที่สะท้อนมาจากชาวบ้านและภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ท่าทีของนายกฯอิ๊งค์ที่ “รอแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา” เพื่อให้มีอำนาจเต็มในการสั่งการก่อน ก็บ่อนเซาะทำลายความเชื่อมั่น  

แม้จะพยายามกู้สถานการณ์ด้วยหลังแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาจบลงเมื่อวันที่ 12 กันยายน2567 ในวันเดียกวันก็ได้เรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้วิกฤติน้ำท่วมในทันที พร้อมสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังช่วยผู้ประสบภัยเต็มที่ และตามด้วยการลงพื้นที่ในวันรุ่งขึ้น แต่ก็ไม่วายถูกวิจารณ์ว่ามาทำไม ในช่วงที่น้ำลดแล้ว จนเกิดวลี น้ำลด นายกฯผุด  ไม่เท่านั้น ยังมีคลิปโจมตีและดราม่าอีกหลายประเด็น เช่น ไม่สนใจฟังรายงานเรื่องน้ำจากเจ้าหน้าที่ แต่กลับมัวไปทักทายประชาชน

ก่อนจะตามมาด้วยการตั้ง ซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาแก้วิกฤติ 2 คณะ คือ คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.)  และ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.)

กระทั่งเสียงวิจารณ์จากคนดังที่อาสาลงไปช่วยชาวบ้านในพื้นที่ สะท้อนปัญหาหน้างานว่ารัฐบาลมัวแต่นั่งห้องแอร์ ไม่ออกมาดูสถานการณ์จริงรวบรวมสรรพกำลัง โดยเฉพาะที่ทำงานตามเวลาราชการ หยุดเสาร์-อาทิตย์

แต่เสียงสะท้อนจากชาวบ้านและอาสากู้ภัย ที่เป็นเสียงจริง คนจริงยังไม่เท่า การทำสงครามข่าวสาร หรือ ไอโอ ที่บางฝ่ายบางพวก ทำคลิปปลอมบิดเบือนเพื่อดิสเครดิต โดยในโลกออนไลน์มีการนำคลิปเก่าของ “แพทองธาร” ก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ และเดินช้อปปิง มาเผยแพร่เล่นกับความรู้สึกของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม

“การวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ต้องดูให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตอนที่เกิดน้ำท่วมรัฐบาลยังสั่งการไม่ได้ แต่เราจะเห็นว่าทหารเข้าไปในพื้นที่ตั้งแต่สองทุ่มของวันที่เกิดเหตุ และพยายามลำเลียงผู้คนออกมา เราจึงเห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยอยู่ที่ศูนย์อพยพ

ผมว่าใครก่อนใครหลังเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ประเด็นคือต้องช่วยกันทำ ใครเข้าไปก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเคลม เข้าไปเถอะ ไปช่วยกันทำประชาชนเขาเดือดร้อน เขาไม่ได้สนใจหรอกว่าใครมาก่อนมาหลัง” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธาน ศปช. ระบุ

“บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม ยังให้ความเห็นกรณีที่มีข้อวิจารณ์ว่าเวลาผู้ใหญ่ลงพื้นที่ไปก็จะมีหน่วยงานราชการแห่มาต้อนรับว่า เราก็ระมัดระวังไม่จำเป็นต้องมารับมาดูแล ก็เอาเฉพาะบุคคล ที่เกี่ยวข้องก็พอ เพราะถ้าไม่ไปก็จะมาว่าอีกว่าไม่สนใจ พอไปก็บอกว่าคนแห่แหนมา

“แต่อย่ามาบอกว่าหน่วยงานรัฐไม่มีใครเข้าไปดูอย่างเช่นกระทรวงคมนาคมที่เข้าสร้างสะพานแบริ่งไว้ เต็มไปหมดแล้ว และตอนนี้เราก็ให้ความสำคัญกับบนเขาเพราะว่าเส้นทางขาด กองทัพก็เข้าไปส่งอาหาร ขณะที่เรื่องไฟฟ้าหากพื้นที่ไหนน้ำแห้งแล้วก็เร่งดำเนินการไปติดตั้ง ดังนั้นเรื่องนี้ตนว่าต้องให้กำลังใจกัน อย่างภาคเอกชนที่ขับเจ็ตสกีเวลาคนเข้าไปเขาก็ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเพราะฉะนั้นอย่าพูดที่ บั่นทอนกำลังใจกัน อยากให้มองบวก และส่งเสริมหากมีเงินก็สละเงิน มีของก็สละของ แต่ถ้าไม่มีอะไรก็ให้กำลังใจกัน”

ดูเหมือนว่า “บิ๊กอ้วน”จะรับบทหนัก ทั้งตามประกบนายกฯหญิงลงพื้นที่ และต้องรับหน้าที่โฆษกชี้แจงแทน ด้วยในยามวิกฤติเช่นนี้ โดยเฉพาะในการประชุมครม.นัดแรกรัฐบาลแพทองธาร ก็ยังไม่สามารถตั้งข้าราชการการเมืองมาเป็นมือไม้ในการทำงานได้  ที่สำคัญคือทีมงานโฆษกรัฐบาล ที่จะต้องมาเป็น “หนังหน้าไฟ”ให้นายกฯ  เพราะติดเงี่ยงเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ ที่ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบไม่ให้กลายเป็นระเบิดเวลาซุกใต้พรมตึกไทยคู่ฟ้าในอนาคต ซ้ำรอย “เศรษฐา”

รีแอคชั่นของ นายกฯ และการสื่อสารการเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ  เพื่อพิสูจน์ว่า เก้าอี้นายกฯเป็นคุณค่าที่คู่ควร

ขณะเดียวกันก็เป็นการวัดกึ๋นเจ้าพ่อการตลาดตัวพ่ออย่าง “ทักษิณ” กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก ในการ “ประคอง” ไม่ใช่ “ครอบครอง” นายกฯลูกสาว ไม่ให้ประสบภัย “น้ำลาย” และถูก“สาดโคลน”

ต้องจับตาการรับมือน้ำท่วมอีกระลอกในหลายพื้นที่ และ “เงินหมื่น” ที่แจกออกมาล็อตแรกนั้น จะช่วยฉุดเรตติ้งรัฐบาลขึ้นมาได้หรือไม่ ท่ามกลางเดิมพันการเมืองสูงสู้กระแสขบวนการส้ม