เป็นครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของกองทัพในการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล เกิดความยุ่งยากที่สุดเพราะเป็นช่วงการเปลี่ยน นายกรัฐรัฐมนตรี เปลี่ยนคณะรัฐมนตรีและเปลี่ยนรมว.กลาโหม

ทำให้มีช่วงสุญญากาศ ที่ส่งผลต่อความถูกต้องของกฎหมาย  ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่าน จากนายสุทิน คลังแสง มาเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย อีกทั้งยังเป็นช่วงคาบเกี่ยวกำหนดส่งโผทหารให้จบภายใน 15 กันยายนด้วย

อีกทั้งต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติและความถูกต้องก่อนที่จะส่งให้กลาโหมและส่งให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนาม เพื่อป้องกันความผิดพลาดในทางกฎหมายด้วย

จะเห็นได้ว่า สุทิน จะเริ่มต้นกระบวนการของการจัดโผทหารมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ด้วยการเชิญ ผบ. เหล่าทัพ พบหารือแบบเรียงตัวนอกรอบ 

แต่การประชุมคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกระทรวงกลาโหม หรือบอร์ด 6 เสือกลาโหม ในยุค สุทิน นั้นก็ไม่ราบรื่น เพราะใช้เวลาประชุมถึง 3 ชั่วโมง

ปัญหาหลัก อยู่ที่กองทัพเรือ เนื่องจาก “บิ๊กดุง” พล.ร.อ.อะดุง  พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ยืนยันเสนอชื่อ “บิ๊กแมว” พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ เป็น ผบ.ทร. คนต่อไป แม้จะถูกที่ประชุมทักท้วงเรื่องคุณสมบัติเนื่องจากไม่ได้อยู่ใน 5 ฉลามทัพเรือ และผ่านตำแหน่งหลักผู้บังคับหน่วยมาน้อยมาก รวมทั้งจบจาก โรงเรียนนายเรือเยอรมันไม่ได้จบจาก โรงเรียนนายเรือไทยซึ่งถูกมองว่าเป็นการฝืนต่อประเพณีของกองทัพเรือ ซึ่งไม่เคยให้นักเรียนนายเรือ จบต่างประเทศมาเป็น ผู้บัญชาการทหารเรือเลย

โดย สุทิน ได้เสนอชื่อ พล.ร.อ.สุวิน  แจ้งยอดสุข รองผบ. ทร.ให้ที่ประชุมพิจารณาโดยเปรียบเทียบประวัติการรับราชการเส้นทางเจริญเติบโตที่เป็นไปตามประเพณีธรรมเนียมของคนที่จะขึ้นเป็นผบ. ทร. อีกทั้งมีอาวุโสสูงสุดและผ่านตำแหน่งผู้บังคับหน่วยมาพร้อมทั้งผู้บังคับการเรือ ผู้ช่วยทูตทหารในต่างประเทศ และผู้บังคับหน่วยกำลังรบทางเรือ

แม้สมาชิกบอร์ด 6 เสือกลาโหมผู้บัญชาการเหล่าทัพ บางคน จะไม่เห็นด้วยกับคนที่ พล.ร.อ.อะดุง เสนอแต่โดยมารยาทก็จะไม่คัดค้าน หรือต้องให้ลงคะแนนเสียงโหวต

อีกทั้งเป็นความชอบธรรม ของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ในการเสนอผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่ หรือตำแหน่งต่างๆ เพราะท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับบอร์ดกลาโหม เพราะหากไม่ต้องมีการโหวตผู้บัญชาการเหล่าทัพก็จะยึดตามที่ได้เสนอมา

เช่นในกรณีของ พล.ร.อ.อะดุง ที่ยืนยันชื่อ พล.ร.อ.จิรพล  มาตั้งแต่ต้นและไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะถูกทักท้วงโดยกลาโหมตั้งแต่ยุคนายสุทินจนมาถึงยุค “บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีควบกลาโหมก็ตาม พล.ร.อ.อะดุง ก็ยังยืนยันในข้อเสนอเดิม  เป็นการสะท้อนด้วยว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่จำเป็นต้องเกรงใจฝ่ายการเมือง และยังเป็นการสะท้อนด้วยว่าผู้บัญชาการเหล่าทัพคนอื่นๆก็ยังคงแท็กทีมในฐานะที่เป็นทหารด้วยกันเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพด้วยกัน ก็จะไม่แตกแถวในการยอมให้มีการโหวต เลือกผบ.ทร.คนใหม่

แม้ว่าโดยความสัมพันธ์ของผบ. เหล่าทัพชุดนี้กับ พล.ร.อ.สุวิน หรือ แคนดิเดตผบ. ทร.คนอื่นๆทั้ง “บิ๊กโอ๋” พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผบ.ทร. “บิ๊กน้อย” พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ จะ เป็นไปด้วยดี ก็ตาม โดยเฉพาะ พล.ร.อ.วรวุธ หรือ แม้แต่ “บิ๊กเต๊ะ” พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ก็เป็นเตรียมทหารรุ่น 24 เพื่อนร่วมรุ่นของผู้บัญชาการเหล่าทัพถึง 3 คน คือปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็ตาม

จึงสามารถมองได้ว่ากองทัพโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดนี้ก็ยังคงมีความเหนียวแน่น ในการที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงผบ.ทร. ไปจากที่พลเรือเอกอะดุง ได้เสนอ

เพราะแม้ในบรรดา ผู้บัญชาการเหล่าทัพชุดนี้ ที่ต่างรุ่นกัน อาจจะไม่ได้แนบแน่น กันร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่ก็ต้องจับมือกันแน่น เพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพ เป็นหนึ่งเดียวมิเช่นนั้นฝ่ายการเมือง ก็จะมองว่ากองทัพมีความแตกแยก

จะเห็นได้ว่าการใช้กลยุทธ์ในเรื่องงานธุรการของกระทรวงกลาโหมในการเสนอชื่อ พล.ร.อ.จิรพล ไปตรวจสอบคุณสมบัติก่อน ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบ และทำให้ฝ่ายการเมือง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  

กรณีโผโยกย้าย 2567 นี้จึงเป็นการชี้ถึงจุดแข็งของพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการ 7 กลาโหมในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย โดยที่อำนาจฝ่ายการเมืองไม่สามารถแทรกแซงได้เลย

เพราะใน 7 เสือกลาโหม ก็เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพถึง 5 คนแล้วส่วนฝ่ายการเมืองมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวมกันแล้วแค่ 2 เสียง

ยิ่งในชุดนี้มี “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นรมช. กลาโหมซึ่งก็ถือว่าเป็นทหารเก่า  ก็ไม่ได้ร่วมมือกับ ภูมิธรรม ในการที่จะเปลี่ยนแปลงชื่อผบ.ทร.คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็น พล.ร.อ.สุวิน หรือ แคนดิเดตคนอื่นที่จะเป็นตาอยู่ตามกระแสเรียกร้องในกองทัพเรือก็ตาม

ดังนั้นครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนให้ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยรวมทั้ง ภูมิธรรม ซึ่งเป็นสายตรงของ ทักษิณ  ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เห็นว่าการที่จะเข้ามาแชร์อำนาจในกองทัพไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งกองทัพก็ตกอยู่ในอำนาจของ “พี่น้อง 3 ป.” แห่งบูรพาพยัคฆ์มายาวนานเกือบ 20 ปีมีการวางตัวอย่างรากลึกไว้จนถึงระดับผู้บังคับกองพัน

แม้ว่ารัฐบาลนี้จะเกิดขึ้นจากดีลผสมข้ามขั้วที่ทักษิณและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะไม่แก้แค้นล้างบางฝ่ายทหารก็ตามแต่ฝ่ายการเมืองก็คงต้องการจะพยายามร่วมแชร์อำนาจวางตัวบุคคลในกองทัพแทรกซึมอยู่บ้าง

แต่ด้วยเหตุที่นายทหารในสายชินวัตรหรือที่เคยถูกเรียกว่าแตงโมหรือในสายเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนร่วมรุ่นของ ทักษิณ รวมทั้งเครือข่ายเติบโตไม่ทันที่จะขึ้นมารองรับตำแหน่งสำคัญดังนั้นจึงรายล้อมไปด้วยนายทหารที่เติบโตมาในยุค “พี่น้อง 3 ป.”

อีกทั้งในปัจจุบันมีเหล่าทหารคอแดงในส่วนหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904  (ฉก.ทม.รอ.904) หรือ ฉกฉก. คอแดง เพิ่มขึ้นมาในส่วนกองทัพบกด้วยจึงยิ่งเป็นเกราะกำบัง ฝ่ายการเมืองได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะเก้าอี้ผบ.ที่จะต้องเป็นทหารคอแดงที่ในเวลานี้ยังไม่มีนายทหารในสายชินวัตรได้เติบโตหรืออยู่ในคอแดงเลย

ดังนั้นการที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม หรือ ทักษิณ ที่คิดจะมาลดบทบาทกองทัพในทางการเมืองเพื่อสกัดกั้นการปฏิวัติรัฐประหาร จึงไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติเพราะการแทรกซึมวางตัวบุคคล มาคุมอำนาจในกองทัพไม่สามารถทำได้และขาดตัวบุคคลในสายชินวัตร ด้วย

เพราะเพียงแค่การแก้ไขพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหมปี 2551 เพื่อสกัดกั้นการรัฐประหารที่เริ่มทำไว้ในยุค สุทิน จะผ่านสภากลาโหมและรอให้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งให้สภาพิจารณาแล้วก็ตามก็ถูกมองว่าเป็นแค่สัญลักษณ์เท่านั้นในทางปฏิบัติจริงไม่สามารถหยุดยั้งการรัฐประหารได้

เพราะการจะหยุดรัฐประหารได้คือต้องมีคนของตนเองคุมกองทัพเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและยุคของ ทักษิณ ยังห่างไกลจากจุดนี้เพราะนายทหารในกองทัพที่เติบโตมาในช่วง 20 ปีมานี้ก็ล้วนเป็นสาย 3 ป. และ วงศ์เทวัญคอแดง ที่การเมืองแทรกได้ยากทั้งสิ้น