ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามเฟด "ผู้ว่า ธปท." ชี้ขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลักสำคัญ
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.67 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ว่า กรณีเฟดไม่ใช่ว่าเฟดลดแล้วเราต้องลด การที่เฟดลดดอกเบี้ยมีผลกระทบต่อปัจจัยหลายด้าน ซึ่งเป็นตัวแปรที่เราต้องตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย ถ้าเราเป็นประเทศที่ fix ค่าเงินไว้กับดอลลาร์เหมือนฮ่องกง หรือในตะวันออกกลางบางประเทศ ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยก็จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตาม แต่เราไม่ใช่แบบนั้น
โดยการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ยังคงเน้นจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักใน 3 ปัจจัยคือ แนวโน้มเศรษฐกิจว่าสามารถเติบโตได้ถึงศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อจะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ และเสถียรภาพด้านการเงิน แต่การพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้หนีไม่พ้นต้องคำนึงถึงภาพรวมด้วย หนึ่งในนั้นคือ การปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวมที่ต้องคำนึงถึงผ่าน 3 ปัจจัยนี้ สำหรับการตัดสินใจต่อนโยบายดอกเบี้ยของไทยจาก 3 ปัจจัยดังกล่าวในปัจจุบันยังไม่เห็นสิ่งที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจต่างไปจากที่ ธปท.ได้เคยประเมินไว้ โดยยังคง Outlook Dependent เชื่อว่าเป็นกรอบการตัดสินใจที่เหมาะสม ถูกต้อง
ทั้งนี้นอกเหนือจากนี้ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิมกับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น และอยากฝากว่า การลดดอกเบี้ยนั้น ผลที่จะส่งต่อไปยังการลดภาระหนี้อาจจะไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง การปรับลดดอกเบี้ย ผลที่จะได้รับอาจไม่มากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้ และจะคาดหวังว่าดอกเบี้ยลงแล้ว ภาระหนี้จะลดลงทันที คงไม่ใช่
"ดอกเบี้ยเป็นแค่หนึ่งในเครื่องมือที่มี เราใช้เครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการทำงาน เป็น policy mix เรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญตัวหนึ่งในมาตรการที่ทำเช่น การลดภาระหนี้คน กลุ่มเปราะบางจริงๆ ถ้าจะลดภาระให้เขา การลดดอกเบี้ย ผลอาจไม่ได้มากเท่าปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการ ดอกเบี้ยเป็นยาที่กระทบวงกว้างหลายด้าน การใช้ยาเฉพาะจุด ตรงจุด จะเหมาะสมกว่า"
#ธปท #ดอกเบี้ย #ข่าววันนี้ #เงินเฟ้อ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์