ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
วงโคจรชีวิตอาจจะมีขึ้นมีลง แต่ในวงจรจักรวาล แรงดึงดูดอันมหาศาลจะแนบแน่นยืนนาน
พุทธศักราช 2512 ในปีที่ธงชัยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ประเทศไทยมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ มี ส.ส.หลายคนที่จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จำได้แม่นคือนายสมัคร สุนทรเวช เพราะมีชื่อเสียงตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นนักศึกษา และเมื่อเป็น ส.ส.แล้วก็ชอบอภิปราย มีลีลาการพูดแบบที่สมัยนี้เรียกว่า “ตัวตึง” ทำให้มีประชาชนติดตามเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในหน้าหนังสือพิมพ์อันเป็นสื่อหลักในสมัยนั้น เช่นเดียวกับธงชัยที่ชอบติดตามการอภิปรายของนาย “จมูกชมพู่ผ่าซีก” ส.ส.ดาวสภาคนนี้ และวาดหวังว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะไปสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กับเขาบ้าง
ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ 4 ปีเพียงไม่กี่เดือน ในปลายปี 2515 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ก็ประกาศยึดอำนาจตนเอง ล้มรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ แล้วให้คณะปฏิวัติที่มีตนเองเป็นหัวหน้านั้นขึ้นเป็นรัฐบาล และตัวจอมพลถนอมเองก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ สาเหตุหลักคือความวุ่นวายทั้งในและนอกรัฐสภา โดยในสภา ส.ส.ในฟากฝ่ายของรัฐบาล ที่แม้ว่าจะครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดอยู่แล้ว แต่ก็เรียกร้องเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ จากรัฐบาลไม่หยุด โดยเฉพาะงบประมาณที่จะขอเอาไปพัฒนาพื้นที่ แต่ความจริงคือเงินกินเปล่า หรือการเอาเข้าพกเข้าห่อของตัว ส.ส.เอง เมื่อไม่ได้ตามใจก็ตั้งแง่จะโหวตค้านกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งถ้ารัฐบาลแพ้ก็ต้องลาออกไปทั้งคณะ ส่วนนอกสภาก็มีแรงบีบจากฝ่ายที่ต่อต้านเผด็จการ โดยเฉพาะในกลุ่มปัญญาชน ที่มีการก่อม็อบจนถึงขั้นเดินขบวนขับไล่รัฐบาล โดยแอบแฝงมาในรูปของการต่อต้านการซื้อสินค้าต่างชาติ รวมถึงเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน และการคอร์รัปชั่นของรัฐบาล
ปีต่อมา ใน พ.ศ. 2516 ที่ธงชัยรับพระราชทานปริญญา ก็เกิดการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย โดยมีการก่อตัวที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แกนนำผู้เรียกร้องจำนวน 13 คนถูกตำรวจจับขณะเดินแจกใบปลิวขอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถนนราชดำริ แถวประตูน้ำ แล้วไปขังไว้ที่คุกตำรวจที่ถนนวิภาวดี จากนั้นก็มีการรวมตัวกันของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม นั่นคือเหตุการณ์เริ่มต้นของ “14 ตุลา วันมหาวิปโยค” ซึ่งมีผู้เสียชีวิตนับร้อย โดยได้ฝาก “พลังกระแทก” ส่งผลต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมา ที่ถือกันว่าเป็นการ “แตกหน่อประชาธิปไตย” ด้วยการสร้างพลังประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการต่าง ๆ ที่แม้ว่ามีแพ้บ้างชนะบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็น “รุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตยยุคใหม่”
ธงชัยทิ้งความคิดที่จะเป็น ส.ส.ไว้เบื้องหลัง เขาได้งานทำที่บริษัทนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ที่เจ้าของเป็นเพื่อนของเตี่ย และมีรายได้ดีพอสมควร เพราะบริษัทใหญ่ ๆ ในยุคนั้นจะต้องมีฝ่ายกฎหมายที่เก่ง ๆ เพื่อหาช่องทางในการใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่การดำเนินธุรกิจ เช่น การสั่งสินค้าและ “เอาออก” สินค้าที่สั่งเข้ามา รวมถึงเรื่องภาษีและข้อติดขัดต่าง ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ ด้านพ่อค้านั้นไม่ต้องใช้กฎหมายอะไรมากนัก เพราะข้าราชการของไทยจะเป็นผู้แนะนำหรือ “ช่วยทำให้” ทั้งสิ้น บริษัทต่าง ๆ ก็แค่ทำตามที่ข้าราชการแนะนำ ก็จะได้รับความสะดวก ทั้งนี้ก็มีเรื่องของ “น้ำร้อนน้ำชา” และ “น้ำมันหล่อลื่น” ตามสมควร ทุกอย่างก็จะราบรื่นและเรียบร้อย อย่างไรก็ตามการมีนักกฎหมายเข้าไปประสานงาน ก็อาจจะทำให้ข้าราชการ “ฝืดคอ” บ้าง ประโยชน์ก็คืออาจจะลดค่าใช้จ่าย “เบี้ยบ้ายรายทาง” ที่ไม่จำเป็นได้บ้าง โดยปรับเปลี่ยนจากรูปแบบที่ข้าราชการ “ขี่คอ” พ่อค้ามาโดยตลอด มาเป็นรูปแบบที่ “กอดคอกัน” ให้อยู่กินด้วยดีด้วยกันทั้งสองฝ่าย
จุดเปลี่ยนในชีวิตของธงชัยเกิดขึ้นเมื่อได้ไปประสานงานกับบริษัททนายความใหญ่แห่งหนึ่ง เพราะบริษัทนำเข้าที่เขาทำงานอยู่ เกิดไป “เหยียบตาปลา” หรือขัดผลประโยชน์กับ “ขาใหญ่” ทางการเมืองคนหนึ่ง ขาใหญ่คนนี้แรกเริ่มก็เป็นนักธุรกิจธรรมดา เพียงแต่พ่อตามีนามสกุลใหญ่เป็นนักการเมืองระดับรองนายกรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้ พอมีเลือกตั้งในปี 2518 ก็ลงเลือกตั้งและได้เป็น ส.ส. ทั้งยังได้ร่วมรัฐบาล เป็นเลขาฯรัฐมนตรีคนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งธุรกิจ ที่เผอิญเป็นธุรกิจนำเข้าเช่นเดียวกันกับบริษัทของธงชัย ซึ่งเกิดกรณีประมูลเครื่องจักรให้กับโครงการของรัฐบาล โดยบริษัทของธงชัยชนะประมูล จึงสร้างความโกรธแค้นให้กับเลขาฯรัฐมนตรีคนนี้มาก ธงชัยจึงได้ติดตามทนายใหญ่ของบริษัทเข้าไป “ไกล่เกลี่ย” ที่สุดก็สำเร็จลงด้วยดี โดยบริษัทของธงชัยต้องยอมจ่าย “ค่าต๋ง” เป็นส่วนเพิ่มให้กับเลขาฯรัฐมนตรีคนนี้ และกับการไม่ต้องถูกกักสินค้าหรือส่งสินค้ากลับประเทศที่นำเข้ามา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสูญเสียมหาศาล
บริษัททนายความใหญ่ที่เลขาฯรัฐมนตรีคนนี้ไปใช้บริการ มีคณะที่ปรึกษาเป็นนักกฎหมายที่อยู่ในหน่วยงานกฎหมายที่ทำงานให้กับรัฐบาลหลายคน บ้างที่เกษียณราชการมาแล้วก็มาเป็นที่ปรึกษาหรือกรรมการกิตติมศักดิ์ แต่ที่ยังรับราชการอยู่ก็มา “รับจ๊อบ” แบบ “พาร์ตไทม์” หรือ “เป็นเคส ๆ” ทีละคดีตามแต่จะมีการจ้าง มีอยู่คนหนึ่งที่มาทำคดีที่ธงชัยเข้าไปประสานงาน เป็นข้าราชการ “ดาวรุ่ง” อายุประมาณ 40 ต้น ๆ แต่ได้เติบโตเป็นถึง “ชั้นพิเศษ” (สมัยนั้นข้าราชการพลเรือนใช้ระบบ “ชั้นยศ” คือเริ่มจากต่ำสุด ชั้นจัตวา ขึ้นไปเป็น ชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก และสูงสุดคือชั้นพิเศษ หรือเทียบชั้นซี 10 กับซี 11 ในสมัยนี้) ที่คนทั่วไปเรียกว่า “ท่าน” ซึ่งบังเอิญ “ท่าน” เกิดถูกนิสัยกันกับธงชัย อาจจะเนื่องด้วยความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยและอ่อนน้อมถ่อมตน ที่เขาถูกอบรมมาในครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก ไม่พูดมาก สามารถตอบสนองได้รวดเร็ว ตอบข้อกฎหมายได้แม่นยำ และที่สำคัญปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีมาก โดยที่ไม่ตกใจหรือประหม่าวุ่นวาย ทำให้เป็นที่ “ต้องตา” และเมื่อคบกันต่อมาก็ “ถูกใจ” และใช้งานกันเป็นประจำ
ธงชัยมาหวนนึกถึง “โชคดี” ในครั้งนั้นว่า คงจะเป็น “มรดก” ที่อาก๋งและเตี่ยได้ปลูกฝังไว้ในตัวเขา โดยเฉพาะการปรับตัวเข้ากับผู้คนและสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงที่เขามีโชคดีเป็นชั้นที่สอง ที่ข้าราชการและนักการเมืองของไทยก็เข้าใจได้ไม่ยาก เหมือนอย่างที่เขาได้เห็นอาก๋งและเตี่ยปฏิบัติต่อคนเหล่านี้มาโดยตลอด นั่นคือไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ด้วยการ “ยื่นหมูยื่นแมว” เมื่ออยากจะได้อะไรก็หาสิ่งของที่มีค่าต่าง ๆ ไปแลกเปลี่ยนเอา ซึ่งสิ่งมีค่านี้อาจจะไม่ใช่เงินเสมอไป แต่อาจจะเป็นได้แม้กระทั่ง “ศักดิ์ศรี” หรือคุณค่าในตัวตนของเราเอง ที่บางครั้งก็ต้องยอมสละและแลกเปลี่ยนกับของที่ด้อยค่ากว่า หรือแม้กระทั่งการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือสิ้นไร้ศักดิ์ศรีนั้น ซึ่งเขามาคิดดูว่าไม่ใช่ตัวเขาเท่านั้นที่ต้องเสียสละหรือสูญสิ้นศักดิ์ศรี แต่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่มาร่วมแลกเปลี่ยนกับเขานี้ ก็ “เสื่อมเสียและหมดสิ้นศักดิ์ศรี” เช่นเดียวกัน
ธงชัยได้รับโทรศัพท์ในวันหนึ่งจากเลขานุการของ “ท่าน” ว่าอยากให้เขามาทำงานที่บริษัททนายความใหญ่ เพื่อจะได้ประสานงานกับท่านให้สะดวกขึ้น โดยที่ท่านมี “โครงการใหม่ ๆ” ให้ช่วยทำ โดยเฉพาะการประสานส่วนราชการต่าง ๆ กับกลุ่มพ่อค้าคนจีน ที่ธงชัยมีความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางมาตั้งรุ่นอาก๋งและเตี่ย ซึ่งธงชัยก็รู้ว่านี่คือ “การขยายฐานลูกค้า” และการทำมาหากินของ “ท่าน” แต่เขามองลึกไปกว่านั้นว่า เขาอาจจะได้ประโยชน์ที่มากมายยิ่งกว่านั้น นั่นก็คือการได้เข้าไปรู้จักแวดวงราชการระดับสูง โดยที่เขาคิดไม่ถึงในตอนแรกว่า เพียงแค่เข้าไปสัมผัสกับฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล จะพาเขาถลำลึกเข้าไปจนถึง “แกนอำนาจ” และ “จุดสูงสุดทางการเมือง” อย่างที่เขาเคยใฝ่ฝันมาตั้งแต่ครั้งที่เป็นนักศึกษา
ไม่เคยคิดเลยว่า จาก “คนจีนอพยพ” จะได้เติบโตเป็นถึง “อำมาตย์” คนหนึ่งในสังคมไทย