นครพนม เริ่มได้รับผลกระทบ ฤทธิ์พายุโซนร้อน ซูลิก ทำฝนเริ่มตกหนัก เทศบาลเมืองนครพนม เร่งเดินเครื่องสูบน้ำตลอดคืน ทุกจุดเสี่ยง ระบายลงน้ำโขง ป้องกันน้ำโขงหนุน ระบายไม่ทัน เอ่อท่วมตัวเมือง ย่านชุมชนเศรษฐกิจการค้า คาดน้ำโขงทรงตัว จ่อวิกฤติหากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง หนักสุดลำน้ำสาขาเอ่อล้น ไม่สามารถไหลระบายลงน้ำโขงได้
เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 19 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ที่ จ.นครพนม ผลกระทบจากฤทธิ์พายุโซนร้อน ซูลิก ทำให้ฝนเริ่มตกหนัก คาดว่าจะตกต่อเนื่องทั้งคืน โดยทางเทสบาลเมืองนครพนม ได้เตรียมพร้อมรับมือ เดินเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ในจุดเสี่ยงรวมกว่า 7 จุด ที่มีการติดตั้งเสริมเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ ระบบไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว ตามจุดระบายน้ำจากตัวเมืองลงสู่น้ำโขง แต่ในช่วงนี้ระดับน้ำโขงสูง ที่ระดับ 11.70 เมตร ห่างจากจุดเฝ้าระวังล้นตลิ่ง ที่ 30 เซนติเมตร คือ ที่ 12 เมตร ทำให้มวลน้ำในพื้นที่ รวมถึงลำน้ำสาขา ไหลระบายลงน้ำโขงช้า ยิ่งหากมีฝนตกต่อเนื่อง จะต้องเดินเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ตลอด 24 ชั่วโมง เร่งระบายมวลน้ำลงน้ำโขงให้เร็วที่สุด ป้องกันน้ำรอระบายเอ่อท่วม ตัวเมือง ย่านชุมชนเศรษฐกิจการค้า ส่วนปัญหาน้ำโขงเอ่อล้นทะลักท่วมตัวเมืองนครพนม รวมถึงอำเภอชายแดน 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมืองนครพนม และ อ.ธาตุพนม ยังมีโอกาสยาก เพราะระดับเขื่อนป้องกันตลิ่งสูง สามารถรองรับน้ำโขงได้ถึง 15 เมตร จะมีเพียงพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตรติดแม่น้ำโขง ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้หากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องอีกหลายวัน คาดว่าระดับน้ำโขงจะทรงตัว ไม่ลดระดับ เนื่องจากยังมีมวลน้ำจากหลายพื้นที่ไหลมาสมทบ
สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ อ.สรีสงคราม จ.นคพรนม เนื่องจากเป็นจุดรวมน้ำ สาขาสายหลัก ทั้งลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ไหลมารวมกัน ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง ที่ อ.ท่าอุเทน แต่ในช่วงน้ำโขงสูงหนุน ทำให้ไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้ ล่าสุดมีปริมาณเกินความจุถึงร้อยละ 50 จนเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตร นาข้าว ของเกษตรกร จำนวนกว่า 50,000 ไร่ โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องมอยู่ระหว่างเร่งสำรวจให้การช่วยเหลือชดเชยเยียวยา รวมถึงได้รับผลกระทบไม่มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์การเกษตร โค กระบือ เริ่มขาดหญ้า นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือน ของชาวบ้าน บางส่วน เกิดน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม เริ่มได้รับผลกระทบ เนื่องจากพื้นที่เป็นลักษณะแอ่งกระทะ ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วม ถือเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี ชาวบ้านจึงสร้างบ้านเป็นแบบยกสูง พอน้ำมาต้องอาศัยอยู่ชั้นบน โดยมีภาครัฐให้การดูแลช่วยเหลือ จนกว่าระดับน้ำลด บางปีท่วมขังนานกว่า 2 เดือน